พระไตรปิฎกคือคัมภีร์สูงสุดของพุทธศาสนา ที่ได้รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาไว้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการศึกษาค้นคว้า เป็นคัมภีร์ที่บอกเราว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร และสอนว่าอย่างไร เมื่อใดก็ตามที่คนเรายังศึกษาเล่าเรียน อ่าน แปล ค้นคว้าพระไตรปิฎก และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกอยู่อย่างแพร่หลาย พุทธศาสนาก็จะยังดำรงอยู่สืบไป แต่หากวันใดไม่มีคนสนใจ คำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า รวมถึงของพระสาวกที่อยู่ในพระไตรปิฎกก็เปรียบเหมือนคัมภีร์เปล่า ที่ไร้คุณค่าและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย และเมื่อนั้นเอง พุทธศาสนาก็คงถึงกาลอวสานไปจากโลก
มีอะไรในพระไตรปิฎก หากเปรียบพระไตรปิฎกเหมือนภาชนะใส่ของ ก็คงประกอบด้วย ตะกร้า 3 ใบ (ปิฎก = ตะกร้า) ที่ใช้สำหรับใส่สิ่งของสำคัญและเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก สิ่งสำคัญที่ว่าคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ธรรม (คำสอน) และวินัย (คำสั่ง) ส่วนที่เป็นธรรมก็ยังแยกออกเป็น 2 ส่วน เนื่องเพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้มากมาย คือ พระสูตร หรือเรียกอีกอย่างว่า พระสุตตันตะ และพระอภิธรรม ธรรมะต่างจากวินัยที่ตรัสในวงจำกัด คำว่าแคบกว่าก็คือ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทสำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เท่านั้น ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับฆราวาส ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนทั้งสองคือภิกษุและภิกษุณีดำรงอยู่ด้วยดี เป็นระเบียบงดงาม และเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่มหาชน ธรรมหรือเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลในโอกาสต่างๆ ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยการเสด็จไปโปรดคนโน้นคนนี้ เช่น พรานป่า ชาวนา กษัตริย์ ชาวบ้าน ภิกษุ เป็นต้น ด้วยการแสดงธรรม หรือตอบข้อซักถามของเขาเหล่านั้นจนหายสงสัย บางครั้งไม่ได้เสด็จไปไหนก็มีผู้มาทูลถามปัญหาก็มีมากมายหลายครั้ง เช่น เทวดามาถามปัญหาพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวัน พาวรีพราหมณ์อยากรู้คำสอนในพุทธศาสนาก็ส่งศิษย์ 16 คน มาถามปัญหา เป็นต้น ธรรมที่พระองค์แสดงหรือตรัสสนทนากับบุคคลในสถานการณ์และสถานที่ต่างๆ แต่ละเรื่องจบไปเรื่องหนึ่งๆ นี้ เรียกว่า สูตร เช่น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุชื่อเมฆิยะ ก็เรียกว่า เมฆิยสูตร เมฆิยสูตร เป็นเรื่องของพระเมฆิยะที่ทำความเพียรในป่ามะม่วง แต่ไม่อาจบรรลุธรรมได้ เนื่องจากถูกวิตก 3 ครอบงำ จึงทำให้จิตของท่านดิ้นรน กวัดแกว่ง ไม่มีสมาธิ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปแสดงธรรมให้ฟัง โดยแสดงเป็นอุปมาอุปไมยให้ท่านเข้าใจว่า ปลาที่ถูกซัดขึ้นบก เมื่อไม่ได้น้ำก็ย่อมดิ้นรนไปมา เหมือนกับจิตยินดีในกามคุณ 5 เมื่อภิกษุยกขึ้นจากที่อยู่คือ กามคุณ 5 แล้วซัดไป (มุ่งสู่) ในวิปัสสนากรรมฐาน เผาด้วยความเพียรทางกายและทางจิต ก็ย่อมดิ้นรน คือไม่อาจที่จะติดอยู่ในกามคุณ 5 นั้นได้ (เพราะถูกอำนาจวิปัสสนากวัดแกว่ง) ธรรมที่มาในรูปนี้มีมากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่พระองค์จะตรัสแก่บุคคลประเภทใด มีความรู้และมีสติปัญญาระดับไหน ซึ่งนอกจากเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป ทั้งพระเถระ พระเถรี ตลอดถึงภาษิตของเทวดาที่ทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิตอีกจำนวนมาก เช่น สังคีติสูตร ก็เป็นสูตรที่ว่าด้วยการทำสังคายนา ที่พระสารีบุตรได้แสดงวิธีการทำสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวด 1 ไปจนถึงหมวด 10 ธรรมประเภทนี้ เรียกว่า พระสูตร และเมื่อนำมาใส่ในปิฎก ก็เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ ธรรมที่แสดงตามเนื้อหาของธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลหรือสถานที่ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาเนื้อหาเป็นหลัก ยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายเรื่องนั้นให้ชัดเจนไปเลย เช่น ยกจิตขึ้นมา ก็อธิบายไปเลยว่า จิตคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีทั้งหมดกี่ดวง ความเป็นไปแต่ละดวงเป็นอย่างไร จิตถูกกิเลสครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น ธรรมประเภทซึ่งเป็นวิชาการล้วนๆ นี้ เรียกว่า พระอภิธรรม และเมื่อนำมาใส่ในปิฎกก็เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก ส่วนที่เป็นคำสั่งคือวินัยนั้น เป็นส่วนที่ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ที่บอกว่าภิกษุ ภิกษุณี ทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง และการที่ทำไม่ได้หรือห้ามทำนั้น หากภิกษุ ภิกษุณี ละเมิดก็มีโทษปรับที่เรียกว่าอาบัติ ตั้งแต่สถานเบาไปถึงสถานหนัก สูงสุดคือขาดจากความเป็นภิกษุ ภิกษุณี นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ตลอดถึงระเบียบวิธีปฏิบัติของสงฆ์ ที่เรียกว่าสังฆกรรมต่างๆ เช่น การบรรพชา อุปสมบท เรื่องอุโบสถ กฐิน การคว่ำบาตร การลงโทษภิกษุที่ประพฤติผิดธรรมผิดวินัย เป็นต้น เมื่อนำมาใส่ในปิฎก เรียกว่า พระวินัยปิฎก และเมื่อรวมแล้วจะครบ 3 ปิฎก เรียกว่าพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก...สำคัญไฉน หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพระไตรปิฎกนี่แหละที่รวบรวมพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นศาสดาแทนพระองค์ของชาวพุทธ ดังนั้น เราจึงถือกันมาเป็นหลักถึงทุกวันนี้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจากไปแล้วสิ่งสำคัญคือจะต้องรักษาคำสั่งสอนนั้นไว้ให้ดำรง อยู่สืบไป โดยการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกด้วยความนับถือจริงๆ พระไตรปิฎกจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือ และการประพฤติปฏิบัติตนของชาวพุทธว่า ความเชื่อและการปฏิบัตินั้นถูกต้องตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามคำสอนที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนผิดแปลกจากนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา การเที่ยวบิณฑบาต การใช้ไตรจีวรของภิกษุ สังฆกรรมต่างๆ เช่น การบวช การกรานกฐิน การลงอุโบสถ สวดปาติโมกข์ การลงโทษพระที่ประพฤติไม่ยำเกรงพระธรรมวินัย การแสดงอาบัติ เป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านต้องการทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องทาน ศีล ภาวนา รวมทั้งหลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า เช่น ขันติ โสรัจจะ รัตนะ ไตรลักษณ์ อริยสัจ อิทธิบาท พละ โพชงค์ มรรค ปฏิจจสมุปบาท พระนิพพาน เป็นต้น ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น หากไม่มีพระไตรปิฎก เราชาวพุทธก็ไม่สามารถที่จะรู้จักถ้อยคำ เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่กล่าวมาได้เลย แม้ภิกษุเองก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่าที่ตนเองประพฤติปฏิบัตินั้น อย่างไรผิด อย่างไรถูก อะไรเป็นอาบัติ อะไรไม่เป็นอาบัติ อะไรเป็นอาบัติหนัก อะไรเป็นอาบัติเบา เป็นต้น ได้ เห็นแล้วใช่มั้ย? ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นหมดกัน คือ หมดสิ้นพระพุทธศาสนา !! นั่นเอง
ผู้เขียน:วรธาร ทัดแก้ว
|