ท่านได้อะไรเมื่อไปงานศพ
โดย พระพรหมมังคลาจารย์ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
การสวดอภิธรรมในงานศพ
ตามปกติทั่วๆไปนั้นเมื่อมีงานศพเจ้าภาพก็มักจะนิมนต์พระมาแสดงธรรม
แต่ว่าแสดงตอนบ่าย อาตมาก็เคยได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมหลายหน
ทุกครั้ง ที่ไปแสดงก็นึกอยู่ในใจว่าได้ประโยชน์น้อย หมายความว่า
คนฟังน้อยเหลือเกิน จึงได้คิดในใจว่าควรจะได้เปลี่ยนเวลาเทศน์เสียบ้าง
จึงได้ชี้แจงให้เจ้าภาพฟัง ให้ เลือกเอา ๒ เวลา อย่างเวลากลางคืน
เช่นตั้งศพกลางคืนก่อนวันเผาวันหนึ่ง ตอน กลางคืนมีญาติมิตรมาประชุมกันมาก
การสวดมีแต่สวดพระอภิธรรม ล้วนแต่ เป็นภาษาบาลี
ผู้สวดเองบางทีก็แปลไม่ทัน คนฟังนั้นไม่ต้องพูดถึง คือไม่ได้เรื่อง
เท่านั้นเอง ถ้าไปถามว่าฟังแล้วได้ความรู้อะไรบ้าง
ทุกคนก็ตอบว่าไม่รู้อะไรเหมือน กัน แต่ถึงกระนั้นก็สวดกันเรื่อยพอเป็นพิธีอยู่อย่างนั้น
การกระทำเช่นนั้นเรียกว่า ทำตามประเพณี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น
อันประเพณีพิธีรีตองนั้น เป็นเรื่องที่มนุษย์ตั้งขึ้น
สิ่งใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้น มนุษย์ก็แก้ไขได้
ถ้าว่าการแก้ไขนั้นได้ทำให้มันดีขึ้น ให้ได้ประโยชน์มากขึ้น
เช่น การสวดอภิธรรมนี้เราก็ควรแก้ไข ไม่ใช่เลิกเสียทีเดียว สวดเหมือนกัน
แต่ว่าสวดให้น้อยหน่อย...สวดสักจบหนึ่งก็พอแล้ว
ทีนี้เราจะทำอะไรต่อจากนั้น? เราก็ควรจะนิมนต์พระมาแสดงธรรม พูด
ภาษาไทยง่ายๆ ให้คนที่มาประชุมกันเกิดความรู้ความเข้าใจ จึงได้เสนอว่า
ควร จะเทศน์ตอนกลางคืน เจ้าภาพบางคนก็เอาเหมือนกันเลยนิมนต์ไปตอนกลางคืน
ที่วัดชลประทานฯ เวลานี้ ถ้าใครไปตั้งศพ อาตมาจะจัดพระให้เทศน์ทุกคืน
สวดอภิธรรมจบเดียว เสร็จแล้วให้พระเทศน์ เจ้าภาพต้องการหรือไม่ต้องการก็
ตามใจ แต่ถือว่าเป็นหน้าที่ของพระ ญาติโยมเข้ามาในวัดต้องหูตาสว่างกลับไป
ไม่ใช่เข้ามามืดๆ แล้วก็กลับไปมืดๆ
การที่จะทำคนให้หูตาสว่าง ก็ต้องให้ฟังธรรมะ เพราะฉะนั้น เมื่อพระสวด จบหนึ่ง
ก่อนจบ...องค์ที่จะแสดงก็ไปเตรียมตัวรอเลย พอสวดจบก็ขึ้นนั่งบน ธรรมาสน์
ไม่ต้องอาราธนา ไม่ต้องบอกอะไรทั้งนั้น เรียกว่าไปข่มเทศน์เอาเลย
อาตมาได้ถามพวกที่มาในงานศพว่าเป็นอย่างไร จัดแบบนี้ดีไหม? ทุกคนก็บอกว่า
เข้าทีดี ควรจะทำอย่างนี้ เลยตั้งเป็นประเพณีขึ้นว่า
ทุกศพที่มาตั้งที่วัดจะต้องมี การเทศน์ทุกคืน ถ้าตั้ง ๗ คืน อาตมาเองก็เทศน์คืนสุดท้าย
การทำอย่างนี้ได้กำไร ๒ ทาง คือ พระจะได้หัดเทศน์ ต่อไปจะได้เทศน์เป็น
ญาติโยมที่ไปวัดก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ ทำอย่างนี้ได้ประโยชน์
ถ้าไม่เทศน์ตอนกลางคืน อาตมาบอกว่าอีกเวลาหนึ่ง...มันเหมาะที่สุด เวลา
ที่ญาติโยมมานั่งรอจะเผาศพนั่งแหละ ควรจะนิมนต์พระมาเทศน์แถมพกกัน
ตอนนั้นแหละ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง เรื่องสำคัญนั้นจะต้องมีพูดแล้วก็มีคนฟัง
การพิจารณาความตาย-การปลงสังเวช
เราทุกคนที่มานั่งอยู่ในที่นี้มีความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง อาตมานั่งดูแล้วก็คิด
เหมือนกัน แล้วก็คิดว่าควรจะปรับปรุงหลายเรื่องหลายประการ
เมื่อตะกี้นี้ขณะที่นำศพเดินเวียนเมรุ ๓ รอบ เขาเรียกว่าเวียนซ้าย ในขณะ
ที่เรานำศพเวียนไปนั้น คนที่เดินตามศพควรจะเดินอย่างไร?...เราอย่าเดินแบบ
ธรรมดา แต่ว่าต้องสำรวมหน่อย เราควรจะเดินด้วยความสำรวมกิริยาอาการ
ให้ เห็นว่ามีความเศร้าโศกเสียใจกับเรื่องอย่างนี้ การเดินสงบเงียบนั้นมันทำให้เกิด
ธรรมสังเวช ให้คนดูแล้วเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ
ตามภาษาธรรมะเขาเรียกว่า สังเวช มีความหมายว่าสลดใจในสิ่งนั้น
จะได้ความรู้เกิดขึ้นในใจเพราะสิ่งนั้นบ้าง
เมื่อสำรวมใจแล้วเราก็ควรใช้จิตใจคิดในเรื่องนี้ด้วย คิดว่าเราเดินไปกับใคร ...
เราเดินไปกับศพ ศพนั้นคืออะไร...คือส่วนของคนที่เหลืออยู่ของคนที่ตายไปแล้ว
ร่างกายเหลืออยู่ ลมหายใจไม่มี ไออุ่นในร่างกายไม่มี หมดเรื่องกันไปตอนหนึ่ง
แล้ว ก็ปิดฉากเรื่องตายแล้วไปไหน อย่าไปคิดให้มันยุ่งสมอง
เราควรจะคิดปัญหาว่า...
จะอยู่อย่างไรในโลกนี้?
จะดำเนินชีวิตต่อไปนี้ ควรจะคิดนึกอย่างไร?
จะสร้างตัวสร้างตนอย่างไร?
ควรจะคิดนึกอย่างไรใจจึงจะสงบสบาย?
นั่นแหละคือเรื่องที่ควรคิด คนโดยมากไม่คิดเรื่องอย่างนี้ อย่าไปคิดเลย เรื่องตาย
แล้วไปไหน ควรถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร มีความทุกข์ความเดือดร้อน
ในเรื่องนั้นเรื่องนี้จะแก้ไขอย่างไร ปัญหาอย่างนี้คนไม่ค่อยถาม ทั้งๆที่มีปัญหาอยู่
รอบด้าน แต่ไม่ค่อยคิด ไม่ต้องเป็นห่วงดอก ควรจะสนใจปัญหาว่า การเป็นอยู่ใน
ปัจจุบันนี้ควรจะอยู่อย่างไรจึงจะดีกว่า ถูกต้องกว่า
เวลาเราเดินตามศพ เราก็ควรคิดว่า วันหนึ่งเราจะต้องเป็นอย่างนี้ เราหนี
จากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องถึงวาระของเราบ้าง เราจะต้องตาย
ขอให้คิดถึงความตายไว้บ้าง คนที่คิดถึงความตายนั้นจะได้ประโยชน์อย่างไร?
บางคน บอกว่าไม่ไหว คิดถึงความตายนี่มันใจอ่อน มือเท้าอ่อนไปหมด ไม่อยาก
ทำอะไร การคิดในรูปนั้นเขาเรียกว่าคิดผิดทาง ไม่ตรงจุดหมายที่พระบรมศาสดา ได้ทรงวางไว้
ประโยชน์ที่ได้รับจากการมาในงานศพ
พระพุทธเจ้าสอนให้เรานึกถึงความตาย
เพื่อจะได้ทำตนให้ดีก่อนตาย
ให้รู้จักหน้าที่ก่อนตาย แล้วปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อย
อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่มีอะไรบกพร่องเสียหาย
คนเราถ้าไม่นึกถึงความตาย...ก็ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามเรื่อง
เราควรนึกว่า...ไม่กี่วันก็จะต้องย้ายทะเบียนไปอยู่ป่าช้า ก่อนตายนี่เราควร จะทำอะไร?
ชีวิตมันมีค่าที่ตรงไหน? เราเกิดมาทำไม? เราอยู่เพื่ออะไร?
สิ่งที่ดี ที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้นั้นคืออะไร?
เราได้กระทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง?
ถ้าหากว่า ได้คิดในเรื่องอย่างนี้เสียบ้าง ชีวิตจึงจะมีค่ามีราคา
เพราะฉะนั้นในแง่ธรรมะ ท่านจึงสอนให้พิจารณาว่า
วันหนึ่ง...เราจะต้องตาย
ความตายเป็นของเที่ยง แต่ชีวิตความเป็นอยู่เป็นของไม่เที่ยง
คือไม่แน่ว่าเราจะอยู่ไปได้นานเท่าไหร่ จะตายเมื่อไหร่ เพราะชีวิตมันเป็น
สิ่งไม่แน่นอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องนึกว่า เวลานี้เราควรจะอยู่อย่างไร
ควรจะทำอะไรเสียก่อนที่จะถึงเวลาตาย เพราะเวลาตายแล้วทำอะไรก็ไม่ได้
ปริศนาธรรมในงานศพ
ญาติโยมคงจะเห็นเขาทำอะไรๆเป็นปริศนา เป็นข้อเตือนใจแก่คนที่ยัง เป็นๆอยู่ เห็นง่ายๆ เช่นว่า
เวลาเราไปอาบน้ำศพ เขาเอาศพวางบนเตียง จัดแจงเรียบร้อย เอาวางไว้ บนเตียง
เอาผ้าแพรคลุม เปิดหน้าให้เห็นว่าเป็นใคร มีเหรียญมีตราก็เอาไปวาง
ไว้ด้วย...เครื่องหมายยศฐาบรรดาศักดิ์ เสร็จแล้วก็ดึงมือศพมาให้หงายมือขึ้น
แล้ว เราก็รดน้ำลงบนมือนั้น เมื่อเราไปเห็นศพหงายมือให้รดอย่างนั้น เรานึกอะไรบ้าง
ถ้าเราไม่นึกอะไรก็จะไม่ได้ปัญญา แต่ถ้านึกสักหน่อย อ้อ!
เขานอนหงายมือเท่ากับ บอกเรา...บอกให้รู้ว่าเขาไปมือเปล่า
ไม่ได้เอาอะไรไปเลยสักชิ้นเดียว เปิดให้เห็น อย่างนี้มีแต่มือเปล่า
แต่ถ้านอนกำมือยังสังสัยว่าจะเอาเหรียญบาทเหรียญสตางค์ ไปบ้างหรือเปล่า...แต่นี่ไม่มี หงายมือทั้งนั้นแหละ
แล้ว เราก็รดน้ำลงไปในมือผู้ตาย
...รดน้ำลงไปน้ำมันยังอยู่ในมือบ้างไหม?
ไม่มีเหมือนกัน แล้วเอาไปไหน? เอาไปคืนให้แผ่นดิน
เพราะแผ่นดินเป็นเจ้าของน้ำ เป็นผู้ให้น้ำแก่เรา เราก็เอาคืนให้ไปตามเดิม
ตัวเราเองเอาอะไรไปไม่ได้ นี่ก็เป็น ธรรมะเตือนใจอยู่แล้ว
ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็ควรจะนึกบ้างว่า เออ! อ้ายคนที่โลภ นักหนานั้นเอาอะไรไปได้หรือเปล่า?
คำว่า โลภ นั้นหมายความว่า
อยากได้ของของคนอื่นเขา อยากได้ในสิ่งที่ เราไม่ควรจะได้ อยากได้โดยยังไม่ถึงเวลาที่เราควรจะได้
ความโลภนี้ทำให้เกิด ความทุกข์ แต่ความขยันขันแข็งเอางานเอาการ
บากบั่นในการทำงานนั้น พระท่าน ไม่ติหรอก พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า
ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ทำงาน แข่งกับเวลา เพื่อพัฒนาตัวเราและครอบครัวให้มันเจริญ
ผู้อยู่ในโลกก็ต้องทำ อย่างนั้น ถ้าเรานึกถึงความตายเสียบ้าง ก็พอจะเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ
ไม่ให้ โลภมากอยากได้จนเกินไป เพราะนึกได้ว่าจะเอาไปทำอะไรหนักหนา
คนเรามันกินได้แต่เพียงอิ่มท้องเท่านั้นแหละ...เกินกว่านั้นไม่ได้ ถ้าขืนกิน
เข้าไปก็เอาไปทิ้ง แถวหน้าร้านนั่นแหละ...มันฝืนธรรมชาติ มันก็ลำบาก ถ้าหาก
ว่าเราพิจารณาก็จะเห็นว่า อะไรๆมันก็อยู่ที่ความพอดี เกินพอดีไปก็ไม่ได้ เป็นของ
สำหรับใช้ชั่วคราว ถ้าจะพูดกันไปแล้วก็เท่ากับเป็นของยืมทั้งนั้น...ยืมมาใช้ เรา ยืมมาจากธรรมชาติ
แต่ทว่าการยืมไม่เหมือนกับยืมเงินคิดดอกเบี้ย เราต้องลงทุน
ทำงานแล้วก็ได้ผลตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ เราเอาสิ่งนั้นไปไม่ได้
ตายแล้ว ก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งนั้น เราเคยเห็นกันบ่อยๆ
ครั้นเมื่อเราทำมาหาได้มีเงินมีทองแล้ว เราควรทำอย่างไร?...
เมื่อเราเอาไปไม่ได้ เราก็ควรจะใช้มันให้เป็นประโยชน์
ชีวิตมนุษย์อยู่ผู้เดียวไม่ได้ เรามีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคม
เป็นหนี้ สังคมอยู่ตลอดเวลา ก็ควรจะมีโอกาสเปลื้องหนี้เสียบ้าง ด้วยการใช้เงินใช้ทอง
ใช้สติปัญญา ใช้เรี่ยวแรง บำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
ผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่วมกัน...ร่วมกันทุกอย่างแหละ อย่าไปถือเราถือพรรคถือพวก
ถือชาติถือผิว ถือว่าต่างศาสนาต่างผิวพรรณอะไรกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องยุ่งด้วยกันทั้งนั้น
พระศาสดาผู้สอนศาสนา ท่านไม่ต้องการให้เราสร้างกำแพงกั้นตัวเองไว้ ในที่แคบๆ
แล้วไม่ให้ไปคบหาสมาคมกับใครๆ ท่านต้องการให้สัตว์โลกหันหน้า เข้าหากัน
สนิทสนมกลมเกลียวกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ อยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง
สันติสุขมันจึงจะเกิดขึ้นในโลก ถ้าเราได้นึกถึงความตายเสียบ้าง เราก็จะได้คิดนึก ไปในแง่อย่างนี้
หนีไม่พ้น...ทุกคนจะต้องตาย!
เพราะฉะนั้น เมื่อเวลามาในงานศพ เราก็ต้องบอกตัวเองว่า วันหนึ่งเราจะ เป็นอย่างนี้
คำพระในภาษาบาลีท่านสอนให้เราพิจารณา ซึ่งแปลง่ายๆว่า ฉัน ต้องเป็นอย่างนี้
ฉันจะหนีจากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ หนีไม่พ้น ทุกคนจะต้อง เป็นกันทั้งนั้น
แต่ว่าเวลามันไม่แน่นอน กำหนดไม่ได้ว่าจะเป็นกันที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยโรคอะไร รู้ได้แต่เพียงว่าจะต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆ
เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเป็น และไม่รู้เวลา อย่างนี้เราก็ต้องไม่ประมาท รีบเร่ง ปฏิบัติงานในหน้าที่
ใครมีหน้าที่อันใดก็ต้องรีบจัดรีบทำ คิดอย่างนี้เท่านั้นแหละ ช่วยชาติช่วยบ้านเมืองได้
ทำให้งานคล่องตัว ทำให้งานก้าวหน้า เพราะว่าผู้ทำงาน กลัวว่าตัวจะตายเสียก่อนจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น
แล้วก็จะรีบเร่งกระทำสิ่งนั้น งานก็จะ ไม่อากูลไม่คั่งค้าง แต่ถ้าเรานึกว่าช่างมันเถอะ เวลายังมี
ทำพรุ่งนี้ก็ยังได้ เลยเป็น คนมีนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง งานมันก็ชักช้า ทำให้เสียเวลา
ไม่ก้าวหน้า ไม่ถูก จุดประสงค์ของผู้สอนศาสนา ที่สอนให้เราตื่นตัว ก้าวหน้า
เพราะฉะนั้นเราจะ ต้องบอกตัวเองว่า เราอาจจะตายเสียก่อน แล้วจะไม่ได้ทำสิ่งนี้
เด็กๆลูกๆหลานๆเรานี่ ต้องเตือนเขาบ่อยๆ เรียกเขามาบอกว่า ลูกเอ๋ย! เจ้าต้องรีบเรียนนะ
เวลานี้คุณพ่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ การอุปถัมภ์ค้ำชูในเรื่อง การเป็นการอยู่ การศึกษาน่ะ
เป็นหน้าที่ของพ่อแม่จะจัดให้ แต่ว่าพ่อแม่นี่ไม่แน่ อาจจะตายไปเมื่อไรก็ได้
บอกให้เด็กรู้ว่า วันหนึ่งพ่อแม่จะต้องจากไป ในขณะที่ พ่อแม่ยังอยู่นี่ต้องรีบเรียน
รีบเขียน รีบอ่าน รีบให้มันสอบผ่านไปไวๆ อย่าให้ สอบตกซ้ำชั้น อย่าให้เสียเวลาในการเล่าเรียน
จะได้มีวิชาความรู้ เติบโตขึ้นก็จะได้ ช่วยตัวเองได้ โลกสมัยต่อไปมันลำบากกว่านี้
เพราะคนมากขึ้น การเป็นอยู่มันก็ ลำบาก อะไรๆก็ต้องแข่งขันกันทั้งนั้น ถ้าเจ้าไม่ตื่นตัว
ไม่คิดก้าวหน้า เจ้าจะลำบาก บอกเด็กให้เข้าใจเสียบ้าง
เวลามาในป่าช้าอย่างนี้ สมมติว่าเราเอาคุณปู่คุณย่ามาบรรจุไว้ที่หลังวัด
ว่างๆก็พาลูกพาหลานมาเยี่ยมบ้าง บอกเด็กให้รู้ว่าคนที่นอนอยู่ในนี้เป็นใคร
ท่าน มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างไร เราเกี่ยวข้องกับท่านอย่างไร
ควรจะบอกเด็กให้รู้ให้เข้าใจ แล้วเราก็กล่าวสอนกล่าวเตือนเด็กๆเหล่านั้น
ให้ขยันเรียน ต้องรักความดี ต้อง ตั้งใจศึกษา รีบรักษาตัวให้เรียบร้อย
เด็กก็จะเกิดความสำนึกว่า เขานี่เกิดมาจาก เลือดของคนดี
ไม่ใช่เกิดมาจากคนชั่วคนร้าย จะมีความรักบรรพบุรุษ เคารพ บรรพบุรุษขึ้นมา
ที่เขาทำฮวงซุ้ยเก็บศพน่ะ ไม่ใช่เก็บศพไว้เฉยๆ เก็บไว้เพื่อเป็น
อนุสรณ์เตือนใจลูกหลาน เพื่อเป็นพยานแห่งคุณงามความดี ให้คนได้เห็นเป็น
ข้อเตือนจิตสะกิดใจ แล้วจะได้ทำความดีเยี่ยงท่านผู้นี้บ้าง
ก็พูดให้เด็กฟัง เพื่อ ให้เด็กเกิดปัญญา
อานิสงส์ที่ได้มาในงานศพ
การมาเผาศพ คนโบราณเขาว่าได้อานิสงส์มาก
อานิสงส์มันอยู่ที่ตรงไหน?...
ก็อยู่ตรงที่เราได้ปัญญา ได้ความรู้ความคิดเกี่ยวกับศพ
เอามาเป็นเครื่องเตือนใจแล้วเรานำไปประพฤติปฏิบัติ
นั่นแหละคืออานิสงส์ คือสิ่งที่เราได้
ถ้าเรามาเผาเฉยๆแล้วกลับไป เราก็ได้แต่เพียงว่าได้ประโยชน์ทางสังคม เท่านั้นเอง
แต่เราผู้มานี่ควรจะได้ปัญญา ด้วยการมองสิ่งที่วางอยู่เฉพาะหน้า
เช่น ศพ เครื่องประดับศพ อะไรต่างๆล้วนแต่เป็นธรรมะ
เป็นเครื่องเตือนใจเราทั้งนั้น ...กำลังพูดจ้ออยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าบางทีเราไม่ได้เปิดหูฟัง เรามีแต่แค่ดูไม่เข้าใจ มีหัวใจแต่ว่าคิดไม่รู้ เลยไม่ได้เรื่องอะไร
ผีคือความชั่วในตัวเรา
จึงขอเตือนญาติโยมว่า ทุกครั้งที่เรามาป่าช้า มาในงานศพนี่ ขอให้คิดเอา
ศพเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดปัญญา ความคิดความอ่าน แล้วมีความ
ไม่ประมาทในความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
ถ้าสมมติว่าเราเป็นคนมีอะไรบกพร่องอยู่ในตัวบ้าง ประพฤติไม่ค่อยดี
ไม่ค่อยงาม ทำตนให้เสียหาย ทำชื่อเสียงให้เสียหาย เมื่อเรามาในงานศพเราก็
มองให้เห็นว่า สิ่งนั้นไม่ดี...เอาไปเผาเสียด้วย ญาติโยมโดยมากก็เอาไม้จันทน์ไป
สักการะศพ เอาธูปเทียนไปวาง อันนั้นเขาเรียกว่าเผาหลอก แล้วเผาจริงอีกทีหนึ่ง
อ้ายเผาจริงๆ แท้ๆ นั้นไม่ใช่เผาศพ
เราควรจะมาเผาอะไรๆเสียด้วย
อะไรๆ ที่เราควรเผาน่ะมันคืออะไร?
คือสิ่งชั่วสิ่งร้ายที่มีอยู่ในใจเรานั่นแหละ
ที่เขาพูดกันง่ายๆว่า ไปเผาผี นั่นแหละ
ศพ...ไม่ใช่ผี แต่ผี...นั้นคือความชั่วที่อยู่ในตัวเรา
ผีเหล้ามันก็เป็นสิ่งชั่ว ผีการพนัน ผีขี้เกียจ ผีเที่ยวกลางคืน ผีใช้จ่ายทรัพย์
สุรุ่ยสุร่าย ผีไม่เอางานเอาการ เหล่านี้เราก็เอามาพิจารณา ขณะที่นั่งอยู่เฉยๆนั้น
นั่งคิดว่า เออ! ในตัวกูนี่มันมีผีอะไรอยู่บ้าง แล้วก็ให้รู้ว่ามีผีอะไร ครั้นรู้ว่ามีผีอะไร
ก็ให้รู้สึกว่า เออ! เรามาเผาศพนี่ควรจะเอาผีพวกนี้เผาเสียด้วย
เวลาที่ขึ้นไปเผาศพนั้น ก็ขอให้นึกในใจว่า ข้าพเจ้าขอเผาผีที่มีอยู่ในตัว ข้าพเจ้าด้วย
เผาเหล้าไปเสียทีเถอะ อย่าให้มันมาเจริญอยู่ในท้องของเรา เผา การพนัน เลข ๓ ตัว
อะไรต่ออะไรออกไป เผาความเกียจคร้าน เผาความริษยา อาฆาตพยาบาทจองเวร
เอาอะไรที่ไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเราออกไป ตามที่พระท่านว่า ให้ถือว่ามันเป็นผี
เผาศพทั้งที เผาผีเสียบ้าง
ความชั่วคือผี ความดีคือพระ ถ้าเรามีความชั่วก็คือเรามีผี บางคนเลี้ยง
ผีตลอดเวลา เขาเรียกว่าเป็นหมอผีไปด้วยในตัว เลี้ยงผี เลี้ยงความชั่วไว้ในตัว
นั่นแหละคือพวกหมอผีพวกนั้นล่ะ เรามันเป็นหมอผีเลี้ยงผีไว้ในตัว
เลี้ยงผีเหล้าไว้ เลี้ยงการพนันไว้ เลี้ยงผีเที่ยวกลางคืนไว้ เลี้ยงผีสุรุ่ยสุร่ายไว้
เลี้ยงผีขี้เกียจไม่เอา งานไม่เอาการไว้ นี่คือผีทั้งนั้นแหละ อย่าเลี้ยงมันไว้
เพราะถ้าเลี้ยงเอาไว้มันจะ ทำลายเรา แต่ถ้าเราทำลายมันเสียเราก็จะสบาย
เพราะฉะนั้น ในเวลาที่มาเผาศพ หรือเผาผี พูดตามภาษาชาวบ้าน
เราก็ควรจะเผาผีในตัวเราเสียด้วย ผีอะไรอยู่ ในตัวเรา
เราก็ต้องนั่งพิจารณาด้วยตัวของเราเอง แล้วตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า
“กูเผา อย่างเด็ดขาดเลยวันนี้” ไม่เอากลับไปบ้านอีกต่อไป
มาเผาศพให้ได้กำไร ได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์
กลับไปถึงบ้าน ถ้าเราเป็นพ่อบ้าน ไปถึงบ้านก็เรียกแม่บ้านมาบอกเสียว่า
น้อง! พี่ไปเผาผีวันนี้ได้กำไรชีวิตกลับมา เมียคงจะถามว่าได้อะไร
ฉันไปฟังท่าน เจ้าคุณปัญญาฯ ท่านมาเทศน์หน้าศพ ท่านบอกว่า
ให้เผาผีเสียด้วย อ้ายพี่นี่มัน ก๊งเช้าก๊งเย็น...เลิกกันที ช่วยจำไว้ด้วยนะ
แล้วช่วยเตือนด้วย เผื่อมันเผลอไปใน ตอนเช้า พอตื่นเช้ามันจะเผลอไปก๊งเช้า
พอตื่นขึ้นช่วยเตือนด้วยนะว่า อ้ายผีตัวนั้น เผาแล้ว อย่าเอาคืนเข้ามาอีก
ช่วยกันเป็นพยาน ช่วยบอกช่วยเตือน ใครมีอะไรก็ เผามันให้หมดแหละ
เลิกมันเสียเลย อย่างนี้เรียกว่ามาเผาผีได้กำไร ได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์
มางานศพ พบพระธรรม
บางคนเผาไม่รู้กี่สิบศพแล้วก็ยังเหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ
ไม่เปลี่ยนแปลง ขี้เมาอยู่อย่างนั้น ขี้เล่นอยู่อย่างนั้น
เหลวไหลอยู่อย่างนั้น ไม่เอางานเอาการอยู่ อย่างนั้น
อย่างนี้เขาเรียกว่า หลับตาไปเผาผี เลยผีไม่ถูกเผา
อ้ายตัวเรามันถูกเผา เสียแย่ไปเลย คนโบราณเขาว่าอย่างนั้น
ผีเผาคน...ไม่ใช่คนเผาผี
เราอย่าให้ผีเผาเรา แต่ว่าเราช่วยกันเผาผี
ในเมืองไทยนี่ผีมันเจริญขึ้นทุกวันทุกเวลา ยิ่งในกรุงเทพฯ ผีมีทุกถนน ผี
หลายอย่าง พี่น้องทั้งหลายก็รู้กันอยู่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไร?...
เราต้องช่วยกันแก้ไข ช่วยขจัดปัดเป่าไม่ให้ผีมันเจริญงอกงาม
อย่าไปแก้คนอื่นเลย แก้ในตัวเราก่อน แล้วค่อยพูดกับคนอื่นต่อไป
อย่าชวนกันไปหาผี ถ้าจะให้ดีต้องไปหาพระ
มีเพื่อนฝูงมิตรสหายอย่าชวนกันไปหาผี แต่ว่าชวนกันไปหาพระเสียบ้าง
น้อยคนนักที่จะชวนเพื่อนไปวัด ไปฟังธรรม ไปสนทนาธรรม แต่ว่าพอเห็นหน้ากัน
ขยิบตากัน ก็รู้ว่าจะไปตรอกไหนซอกไหน ล้วนแต่จะไปหาผีกันทั้งนั้น
เรียกว่า ไป ส่งเสริมผี ทำให้ผีมันเจริญงอกงาม
แล้วบ้านเมืองเรามันก็ลำบากลงไปทุกวันทุก เวลา
ขอให้เราสงสารบ้านเมืองของเราบ้าง สงสารครอบครัว
สงสารวงศ์สกุลบ้าง แล้วก็ช่วยกันพิจารณาว่า มีอะไรเป็นผี อะไรเป็นพระ
สิ่งใดเป็นผี...เราก็ชวนกันขับไล่มันออกไป
ถ้าหากว่าขับไล่ด้วยตนเองไม่ได้ ว่างๆก็ไปหาพระบ้างก็ได้
ไปหาพระที่ท่านรู้ธรรมะ อย่าไปหาพระหมอดู
อย่าไปหาพระเสี่ยงทายบอกโชคบอกลาภอะไรอย่างนั้น
ญาติโยมโดยมากชอบไปหาพระอย่างนั้นแหละ ไปหาพระหมอดูสะเดาะ เคราะห์
ไปรดน้ำมนต์น้ำพร รดเท่าใดๆผีมันก็ยังอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่หมดไปจาก
ตัว เราต้องใช้ธรรมะที่เป็นเหมือนน้ำมนต์
อย่าเอาน้ำมนต์ในบาตรมาเป็นน้ำมนต์รด
เอาธรรมะมาลดลงไปที่ตัวเรา ผีมันจะได้ออกไปจากตัว
นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าเข้าวัดไม่ค่อยจะถูก พบพระไม่ค่อยจะเห็น
พระ มันเลยมืดกันตลอดเวลา
ได้พูดมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย เล็กๆน้อยๆ
ก่อนที่จะได้ทำพิธีตามที่เคยกระทำมา ก็พอสมควรแก่เวลา
.....
จัดพิมพ์ ข้อความเพิ่มเติม 1 หน้าฟรี ส่งทั่วไทย
เชิญชวน : จัดพิมพ์หนังสือ ราคา 20 บาท เรื่อง งานได้ผล คนก็เป็นสุข
จัดพิมพ์ ข้อความเพิ่มเติม 1 หน้าฟรี ส่งทั่วไทย
ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนาไตรลักษณ์ บริการพิมพ์หนังธรรมะแจกเนื่องใน
โอกาสพิเศษต่างๆโดยได้คัดเลือกจากกลุ่มหนังสือที่มีอยู่ในคลังหนังสือธรรมะ
ซึ่งมีไว้ให้เลือกใช้สำหรับงานพิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการและแจกหนังสือธรรมะ
เนื่องในโอกาสต่างๆ
เช่นการรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมบุญในการจัดพิมพ์
หนังสือเพื่อพิมพ์แจกและถวายพระภิกษุสงฆ์
เพื่อให้ท่านได้นำไปแจกจ่ายแด่ผู้สนใจศึกษาธรรมะ,
งานอนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจ,หนังสือที่ระลึกในงาน
พระราชทานเพลิง, งานวันเกิด, หนังสือที่แจกเพื่องานเกษียณอายุราชการ,
และในโอกาสวาระสำคัญต่างๆ เพื่อสร้างบุญบารมีของตนให้ยิ่งๆขึ้น
หรืออุทิศกุศลในการจัดพิมพ์หนังสือให้แก่ผู้วายชนม์
อันจะยังกุศลแห่งการเผยแพร่ธรรมะเป็นทาน
และเผยแพร่หลักธรรมะให้เจริญแพร่หลายสถาพรสืบไปซึ่งถือว่าเป็นกุศลใหญ่
ใช้เวลาการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก1-2วันและจัดพิมพ์หนังสือในราคาต้นทุนโรงพิมพ์ธรรมทาน
พร้อมกับจัดพิมพ์ข้อความที่ระลึกของผู้สั่งพิมพ์ได้ฟรี
1หน้าบริการจัดส่งทั่วประเทศสะดวกส่งเร็วโดยใช้บริษัทขนส่งทั่วประเทศ
ท่านสามารถตรวจเช็ค รายการหนังสือที่มีมากกว่า 2,000 รายการ ได้ที่
โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือธรรมะเพื่อแจก
ที่ 02-482-7358, 087-696-7771, 086-461-8505
LINEสั่งพิมพ์หนังสือ : @trilakbooks
หรือกดที่ ลิงค์ add Line ด้านล่างได้เลยครับ
https://line.me/R/ti/p/%40trilakbooks