เกร็ดความรู้
เรื่อง เหตุให้ไปสุคติและทุคติ
พระศาสดาเสด็จจาริกไปยังแคว้นโกศล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ จำนวนมาก
เสด็จถึงหมู่บ้าน ของพราหมณ์ ชื่อ สาละ (หมู่บ้านชื่อสาละ)
ครั้งนั้น พราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านสาละ
สดับกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ แล้วพากันไปเฝ้า พระพุทธองค์
ทูลถามว่า "อะไรเป็นเหตุให้เป็นปัจจุยให้สัตว์บางจำพวก (หมายถึง คน)
ในโลกนี้ ตายแล้วไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ บางพวกตายแล้วไปนรก หรือ ทุคติ วินิบาตร?"
พระศาสดาตรัสตอบว่า ผู้ที่ประพฤติธรรม ประพฤติสุจริต สิ้นชีพแล้วไปสู่สุคติ โลกสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่ประพฤติธรรม ไม่ประพฤติสุจริต เมื่อสิ้นชีพแล้วไปทุคติ วินิบาต นรก
ชาวบ้านสาละทูลขอร้องให้อธิบายคำว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสุจริตให้ละเอียดกว่านี้
เพราะไม่เข้าใจข้อความที่ตรัสโดยย่อ พระศาสดาจึงตรัสจำแนกกุศลกรรมบท ๑๐ ว่า
เป็นการประพฤติสุจริต กุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น คือ
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ
๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เว้นจากโลภอยากได้ของผู้อื่น
๙. เว้นจากปองร้ายผู้อื่น
๑๐. เว้นจากเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
การไม่เว้น คือประพฤติล่วงละเมิด ๑๐ ประการนี้ จัดเป็น อกุศลกรรมบถ ทางแห่งอกุศล
เป็นการไม่ประพฤติสุจริต นอกจากนี้ เว้นสิ่งที่ควรเว้นดังกล่าวแล้ว
ควรต้องทำสิ่งที่ควร ทำด้วย เช่น เว้นจากการฆ่าสัตว์ แล้วควรมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ เป็นต้น
เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมไปเกิดเป็นเทพชั้นต่างๆ ตามสมควรแก่ธรรม ที่ประพฤติเช่นนั้น
สำหรับเรื่องในวรรค์นี้ เรียกโดยชื่อสูตรว่า เวรัญชกสูตร เล่าเรื่องพราหมณ์ และคหบดี
ชาวเมืองเวรัญชามาเฝ้าพระศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถี
ทูลถามเรื่องเหตุให้บุคคล เมื่อสิ้นชีพแล้ว ไปสู่สุคติ และทุคติ
พระพุทธองค์ตรัสตอบทำนองเดียวกับที่ตรัสตอบแล้วแก่พราหมณ์และคหบดี
ชาวบ้านสาละ (ในสาไลยกสูตร) จึงไม่นำมากล่าวซ้ำอีกในที่นี้.
*จากหนังสือเรื่อง พระไตรปิฎก ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว
โดยท่าน อาจารย์ วศินอินทสระ เรียบเรียง