มจร. ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ท่านชยสาโรภิกขุ
มจร ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ | ||
วันที่ ๑๕/๐๘/๒๐๑๑ | ||
เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระวิสุทธิภัทรธาดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล คณบดีคณะครุศาสตร์ พระมหาไพรัชน์ ธมฺมทีโป รก.ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย นายสนิท ไชยวงศ์คต ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการบริหาร ผศ.ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปประกอบพิธีถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ แด่พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ดังกล่าว โดยพิธีจัดขึ้น ณ โรงเรียนทอสี ซอยปรีดี พนมยงค์ ๔๑ ถนนสุขุมวิท ๗๑ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคณะสงฆ์ศิษย์หลวงพ่อชา นำโดยพระอาจารย์จันดี เจ้าอาวาสวัดป่าอัมพวัน จ.ชลบุรี เจริญชัยมงคลคาถา มีคุณครูบุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี คุณครูบุศริน รัญเสวะ ผู้จัดการโรงเรียนทอสี คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และแขกผู้เกียรติร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก เช่น นายเสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการนี้พระธรรมโกศาจารย์ ได้กล่าวธรรมกถา กล่าวอนุโมทนา และกล่าวแสดงความยินดี ต่อจากนั้นพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ ได้กล่าวสัมโมทนียกถาและกล่าวอนุโมทนาตอบ พระชยสาโรภิกขุ (ฌอน ชิเวอร์ตัน) อายุ ๕๓ พรรษา ๓๑ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ. อุบลราชธานี ปัจจุบันจำพรรษา ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นพระเถระถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรงดงาม ได้ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประโยชน์แก่สังคม ประเทศ และพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างประเทศผู้มาศึกษาและปฏิบัติธรรมในประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น ความเป็นอยู่ การติดต่อสื่อสาร และวิธีการปรับตัวให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ในด้านจริยาวัตรส่วนตน เป็นผู้เอาใจใส่ต่อปริยัติสัทธธรรม ปฏิบัติสัทธธรรม และปฏิเวธสัทธรรม เอาใจใส่ต่อภาระธุระทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ สามารถเทศนา บรรยาย ปาฐกถาธรรมทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ในวงกว้าง ถือปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและธรรมเนียมประเพณีของสงฆ์ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เอาใจใส่ต่อการศึกษาหลักการวิธีการและการลงมือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมกันนั้นก็อุทิศตนสั่งสอนพุทธศาสนิกชนผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการศึกษาแบบวิถีพุทธ เพื่อสอนให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามด้านวิชาการควบคู่กับวิชาชีวิต มีพัฒนาการทั้งด้านจิตใจ อารมณ์สังคม และปัญญา ดำเนินชีวิตถูกต้องดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา โดยมีสติรู้เท่าทันในขณะเดิน ยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด พระชยสารโรภิกขุ สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการไว้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการถ่ายทอดพุทธธรรมไปในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวต่างประเทศ โดยการแปลหนังสือภาษาไทยที่เป็นผลงานของปูชนียาจารย์เป็นภาษาอังกฤษ เช่น ผลงานของหลวงปู่เทศก์ หลวงพ่อชา หลวงพ่อพุทธทาส หลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนหนังสือชื่ออุปลมณี ว่าด้วยประวัติหลวงพ่อชาซึ่งเป็นผลงานอันทรงคุณค่ายิ่ง จัดพิมพ์หนังสือซึ่งเป็นผลงานของพระพรหมคุณาภรณ์ชื่อหยาดเพชรหยาดธรรม ภูมิปัญญาเพื่อการศึกษาไทย เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนที่มีนโยบายชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนแบบวิถีพุทธ ทำหน้าที่บรรยายสั่งสอนพุทธธรรมแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที, บอสตัน,นอกจากนี้ยังเผยแผ่แนวคิดด้านการจัดการศึกษาแบบวิถีพุทธและวิธีการปัญหาด้วยวิถีพุทธ ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ แนวคิดสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เช่น การศึกษาวิถีพุทธกับการศึกษาวิถีตะวันตก การศึกษาวิถีพุทธ สังคมทรุดเร่งฉุดด้วยพุทธปัญญา คิดเป็น ด้วยผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาปรากฏเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวมา ทำให้ได้รับรางวัลด้านการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และกระทรวงวัฒนธรรมได้ยกย่องเชิดชูเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ |