ยิ่งให้ยิ่งได้ บทความธรรมะจากหนังสือธรรมะ
สิ่งที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ
คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลก เราก็ได้รับประโยชน์จากสิ่ง ต่างๆเพื่อการดำรงชีวิต
ต้นไม้ก็ให้ประโยชน์แก่เรา ดวงอาทิตย์ ก็ให้ความอบอุ่น ให้ความร้อนแก่เรา
ความร้อนนี่ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีความร้อนต้นไม้ก็ตาย คนก็ตาย
น้ำก็จะไม่กลายเป็นไอ แล้วก็จะ ไม่มีฝนตก...ความชุ่มชื่นในโลกก็จะหายไป
ในโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ ยังมีความร้อนจากดวงอาทิตย์พอเหมาะ พอควร คือ ไม่ร้อนเกินไป...เราก็อยู่ได้
มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ สิ่งที่เราได้รับจากสิ่งนั้น
ทุกชีวิตในโลกนี้
ล้วนได้การเกื้อกูลจากกันและกัน
อะไรๆที่อยู่รอบตัวเรานั้น ถ้าเราคิดดูให้ดีแล้ว เราจะมอง
เห็นว่ามันให้อะไรๆแก่เราอยู่ตลอดเวลา คนที่อยู่ร่วมกัน...ก็ให้กัน อยู่ตลอดเวลา
คุณแม่ให้ชีวิตแก่เรากับคุณพ่อร่วมกัน เมื่อเราเกิดมาแล้ว
เราดูดน้ำนมจากแม่ แม่ให้ชีวิต ให้อาหาร ให้ความอบอุ่นทางร่างกาย
ให้ความรู้ความสามารถ ให้การศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งเราเติบโตเป็น ผู้ใหญ่ นั่นคือ ท่านให้แก่เรา
เราอยู่ในสังคม คนทั้งหลายก็ให้ความสุขแก่เรา ความสุข ที่ได้รับจากคนอื่น
ก็คือความเมตตาปรานี ที่เขามองเราเป็นเพื่อน
เป็นญาติ เป็นมิตร เขาไม่มองเราเป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย แต่เห็นว่าเป็น เพื่อนกัน ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายด้วยกัน
เมื่อเราเกิด ทุกข์ยากลำบากในเรื่องอะไร เขาก็ให้ความช่วยเหลือแก่เรา
เช่น น้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คนที่อยู่ในสภาพที่ไม่ลำบาก ได้รับ ความสุขความสบาย ก็เฉลี่ยความสุขไปให้แก่คนเหล่านั้น ส่งข้าวสาร เสื้อผ้า
หยูกยา ไปช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาเหล่านั้นก็มีความสบาย ใจว่า
“พวกเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ใช่คนที่เป็นส่วนเกินของสังคม
มีคน ช่วยเหลือเจือจุนแก่เรา” เขาก็ได้รับความสุขทางใจเกิดขึ้น
เมื่อเขาได้รับความสุขทางใจจากการกระทำอย่างนั้น เขาก็จะ กระทำสิ่งนั้นต่อไป
เพราะเขารู้ว่าทำอย่างนั้นได้สุข เขาก็จะทำสิ่งนั้นแก่คน
อื่นต่อไปอีก มันจะส่งทอดกันไปโดยลำดับ เราก็ได้รับความสุขใน สังคม
ความสุขที่เราได้รับนั้น...เกิดจากบุคคลผู้ประพฤติธรรม ถ้าคนไม่ประพฤติธรรม...
ก็จะทำแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ให้แก่บุคคลอื่น
แต่ถ้าเขาประพฤติธรรม มีธรรมะเป็นหลักครองใจ ตาม หลักศาสนาที่ตนนับถือแล้วจิตใจก็โอนอ่อน เห็นคนอื่นเหมือนกับตนเอง รู้สึกว่า
“เราต้องการอะไรคนอื่นก็ต้องการอย่างนั้น” เช่น เราต้องการ ความสุข คนอื่นเขาก็ต้องการความสุข
เราไม่ต้องการความทุกข์ คนอื่น เขาก็ไม่ต้องการความทุกข์
หน้าที่ของมนุษย์คือทำให้ผู้อื่นเป็นสุข
เมื่อเราต้องการความสุข เราก็ต้องช่วยให้คนอื่นเป็นสุข
การช่วยให้คนอื่นเป็นสุขคือการช่วยตัวเอง นั้นก็คือ ช่วยให้เรา เป็นสุขด้วย
ในขณะใดที่เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น เราก็จะรู้สึกปลื้มใจ เบาใจ โปร่งใจ มีความสบายเหลือเกิน
บางทีก็ สบายไปหลายวัน นึกถึงทีไรแล้วก็ปลื้มอก ปลื้มใจว่า เราได้ทำอะไรที่เป็น ประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น
การทำอะไรให้ผู้อื่นเป็นสุขนั้นเรียกว่าเป็นหน้าที่ หน้าที่ ของมนุษย์นี่ก็คือการทำให้คนอื่นเป็นสุขนั่นเอง
การทำให้คนอื่นมีความทุกข์แม้สักนิดหนึ่ง นอกเหนือหน้าที่ ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง
ไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องการ หน้าที่ของเรานั้น มีอย่าง เดียวว่า
ทำอย่างไรที่จะให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความสุขความสบาย
ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย ให้อยู่กันฉันท์พี่น้อง นั่นคือหน้าที่
ถ้าคนเราทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกผิวพรรณ
มีความคิด ตรงกันในแนวนี้ว่า เราเกิดมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ แล้วหน้าที่ที่สำคัญก็คือ
ทำอะไรๆให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขใจ ถ้าเรามีหลักการประจำใจในรูป อย่างนี้ เราเบียดเบียนกันไม่ได้ เราจะฆ่าใครไม่ได้
จะไปลักของใครก็ไม่ได้ จะไปประพฤติผิดในทางกามก็ไม่ได้ จะพูดโกหกหลอกลวงใครก็ไม่ได้
จะดื่มกินสุราเมรัยจนเมามาย...หาความทุกข์ให้แก่ครอบครัวก็ไม่ได้ เพราะเรามีความสำนึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเรา
หน้าที่ของเรานั้น อำนวยแต่ความสุขความสบายให้แก่คน ทุกคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
พ่อบ้านมีหน้าที่อำนวยความสุขให้แก่ ครอบครัว แม่บ้านก็มีหน้าที่อำนวยความสุขให้แก่ครอบครัว
ลูกก็มี หน้าที่ที่จะประพฤติปฏิบัติให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ ครูมีหน้าที่ที่จะ ทำให้ศิษย์เจริญงอกงามด้วยความรู้ความฉลาด
ด้วยความประพฤติดี ให้ศิษย์มีความภูมิใจในทางที่ถูกที่ชอบ
ศิษย์มีความสำนึกว่าเราเป็น ผู้มีความเกี่ยวข้องกับคุณครู ก็จะทำอะไรๆทุกอย่างให้คุณครูสบายใจ
เช่น ตั้งใจเล่าเรียน มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูบาอาจารย์
ประพฤติ สิ่งที่ถูกที่ชอบ ครูก็สบายใจ มีความสุขใจ
เราคิดในเรื่องนี้แล้วมันสบายทั่วหน้า ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด เกี่ยวข้องกับใคร เราก็คิดไว้ในใจว่า
หน้าที่สำคัญของเรานั้นคือการทำ คนอื่นให้มีความสุขความสบาย
การทำอะไรให้คนอื่นมีความสุข
นั่นแหละคือการปฏิบัติชอบในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์
เราต้องอยู่เพื่อผู้อื่น มิใช่อยู่เพื่อตนเอง
แต่ว่าคนเรายังไม่ค่อยได้คิดถึงในแง่นี้ ไม่เอาปัญญาส่วนนี้มา ใส่ไว้ในใจ มีความคิดว่า
ตัวได้...คนอื่นช่างเขา ตัวสบายแล้ว...คนอื่น ช่างเขา
ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าไม่มีน้ำใจคิดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง
ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เราอยู่คนเดียวไม่ได้
เราจะสุขคนเดียวไม่ได้
เราจะมั่งมีคนเดียวก็ไม่ได้ อะไรๆเป็นของ คนเดียวไม่ได้
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หมายความว่า ต้องอยู่ ร่วมกัน แยกกันอยู่ไม่ได้
การอยู่ร่วมกันนั้นตั้งแต่เป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นจังหวัด เป็นประเทศ
อันคนที่อยู่ในสังคมนั้นต้องมีความคิดให้เหมือน กันว่า
เราต้องอยู่เพื่อผู้อื่น ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราเอง
ถ้าเราคิดว่าเราอยู่ เพื่อผู้อื่น...เราจะเป็นสุข แต่ถ้าเราคิดว่ากูอยู่เพื่อกู มันก็เดือดร้อนวุ่นวาย
เพราะมีความเห็นแก่ตัว ไม่เสียสละเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น
ในแง่ธรรมะในแง่จริยศาสตร์นั้นเราควรจะถือว่า...
“คนอื่นก่อน เราทีหลัง” ทำให้คนอื่นเป็นสุขก่อน แล้วเราจะพลอยสุขกับคนนั้น
ทำให้คนอื่นสะดวกสบายก่อน แล้วเราก็
จะพลอยได้รับความสุข ความสบายจากคนนั้น
แต่ถ้าเราเอาความสุขเสียก่อนแล้ว เราจะไม่มี ความสุข
เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นมันกระทบกระเทือนต่อคนอื่น
การกระทำอะไรกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของคนอื่น
เป็นการ กระทำที่ไม่ชอบไม่ควร เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ
เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปวางในใจเขา
แต่ว่าถ้าเราจะทำอะไรก็ต้องคิดว่า...
กิจที่เราจะกระทำนี้จะกระทบกระเทือนใครบ้าง?
จะทำให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่ใครบ้าง?
เรียกว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปวางในใจ ของเขา”
ไม่คิดเห็นแก่ความสุขส่วนตัว แต่คิดว่าเมื่อเราจะได้อะไร ก็
ขอให้คนอื่นได้ด้วยกัน ได้สุขกันหลายๆคน ได้ความมั่งมีก็ขอให้ กระจายความมั่งมีออกไป
ปัญหาสังคมก็จะไม่สับสนวุ่นวาย แต่ว่าจะอยู่ ด้วยกันฉันท์พี่น้อง มีแต่ความสงบสุข
สมมติว่าเราเป็นคนที่มีเงินมีทอง แล้วเราก็ไปลงทุนทำงาน เราก็
เฉลี่ยเจือจานผลที่ได้รับนั้นให้แก่คนทำงานทั่วถึง ให้ความสุขแก่เขา
ในเรื่องการเป็นอยู่ เขาเรียกสมัยนี้ว่า สวัสดิการทางอาหาร เสื้อผ้า หยูกยา
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว เราก็ช่วยเขา ใน เรื่องอย่างนั้น
เสียสละเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ผู้อื่น
การทำเช่นนั้นจะทำให้ทุกคนรักกัน เห็นอกเห็นใจกัน เมื่อคนเรา รักกันแล้ว...งานมันก็ดีขึ้น เพราะต่างคนต่างคิดว่า
เราทำเพื่อผู้อื่นไม่ได้ ทำเพื่อตัวเราเอง นั่นแหละคือหลักการสำคัญในทางศาสนา ไม่ว่า ศาสนาใด
เราจะศึกษาธรรมะในศาสนาต่างๆ ศาสดาทั้งหลายนั้นเป็น บุคคลตัวอย่างในทางเสียสละประโยชน์ความสุขส่วนตัว
ไปสร้างสิ่งที่ เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ผู้อื่น ให้เราพิจารณาเช่นว่า พระพุทธเจ้า ที่เราเคารพสักการะใน
ฐานะที่เป็นบรมครูของเราทั้งหลายนั้น ชีวิตของ พระองค์เริ่มต้นด้วยอะไร?
เริ่มต้นด้วยการเสียสละประโยชน์สุข
ส่วนพระองค์ เพื่อไปแสวงหาสิ่งอันจะเป็นประโยชน์ เป็นความสุข แก่ผู้อื่น คือการเสด็จออกไปบวชนั่นเอง
การเสด็จออกไปบวชของ กษัตริย์นี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา
พระองค์แม้จะยังไม่ได้เสวยราชสมบัติ แต่ก็อยู่ในฐานะมกุฏราชกุมาร
มีความหวังว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระราชบิดาสวรรคต
แต่พระองค์ไม่ต้องการสิ่งนั้น
เพราะเห็นว่า การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น จะทำประโยชน์ได้ก็ในวงจำกัด
ไม่กว้างขวาง ทั่วไป แล้วก็จะ
ไปทำในเขตอื่นก็ไม่ได้
พระองค์เห็นว่ามันคับแคบเต็มที สู้ออกไปเป็นนักบวช เป็นครูเป็นอาจารย์
เป็นผู้ ไม่มีขอบเขตในที่อยู่อาศัย ทำอะไรได้ทั่วไปทุกรัฐ
ทุกแคว้น ทุกประเทศ ไม่มีใครรังเกียจ เพราะว่า นักบวชนั้น
สะอาด สว่าง อยู่ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล เป็นผู้เสียสละ
ประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น
พระองค์ทรงคิดในแง่อย่างนั้น จึงได้หนีออกไปบวชอยู่ในป่า ดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ
ผ้านุ่งผ้าห่มก็มีไม่กี่ชิ้น มีบาตรใบหนึ่ง ที่หลับที่นอน
ไม่ประจำ นอนใต้ต้นไม้ นอนตามถ้ำ ตามภูเขา
หรือว่าเรือนร้าง หรือ ลอมฟาง หรือบางทีก็อาศัยโพรงไม้เป็นที่พัก...
เวลาว่างก็ทรงคิดค้นในทางธรรมะว่า จะทำอย่างไรจึงจะดับ ทุกข์ได้
คิดค้นไปนานก็ได้พบความจริงของสิ่งนั้นประจักษ์แจ้งแก่ใจ ของพระองค์
และเมื่อได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้ว
บรรลุความเป็นพุทธะ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น
เป็นผู้มีความเบิกบาน แจ่มใสแล้ว
พระองค์ยังเผื่อแผ่สิ่งที่พระองค์ได้พบนั้นไปแก่ชาวโลก ออกไปช่วย
ชาวโลก ถ้าพูดตามภาษาในสมัยนี้ก็เรียกว่า “รับใช้มหาชน”
เขาพูดกัน อย่างนั้นว่า “รับใช้มหาชน” พระพุทธเจ้าเราไม่เรียกว่าไปรับใช้ แต่ไป
ช่วยเหลือมหาชนให้พ้นจากความมืดบอด ความหลงผิด ความเข้าใจผิด
ในการดำเนินชีวิต ชี้ทางถูกทางชอบให้เขาเดิน และเขาได้เดินตาม
ก็เป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้นั้น
และเป็นความสุขสำหรับบุคคลที่ เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น
พระองค์เสด็จไปชี้ทางให้แก่พระราชา ว่าควรจะปกครอง
ประชาชนอย่างไร? ควรจัดคนให้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างไร?
ไปชี้ทางให้แก่ท่านเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งปกติมักจะ เหนียวหน่อย
พระองค์ก็ไปสอนเขาให้เสียสละ ให้เห็นความสุขของ
เพื่อนมนุษย์เหมือนความสุขของตนเอง แล้วก็ช่วยเผื่อแผ่สิ่งที่ตนมี
ตนได้ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น
สอนประชาชนทั่วไปว่า อย่าอยู่เพื่อตัวเอง แต่ให้อยู่เพื่อผู้อื่น
ตัวเราเองนั้นอาศัยผลประโยชน์จากการทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
นั่นแหละมันก็มีผลพลอยได้เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลผู้นั้นด้วย
คือ...“การให้ นี่คือการได้รับ” “การไม่ให้ คือการไม่ได้อะไร”
คนเรานั้น...ถ้าให้เราจะได้ ถ้าไม่ให้แล้วจะได้อะไร
เมื่อไม่ลงทุนแล้วมันจะเก็บเกี่ยวผลได้อย่างไร?
เราไม่หว่านพืชแล้วเราจะได้ไปเก็บผลได้อย่างไร?
... ไม่มีทางจะได้ แต่ถ้าเราหว่านพืช พืชก็งอกงาม เราก็ จะได้รับผลจากพืชที่เราหว่าน
แต่ถ้าเราไม่หว่าน...เราจะได้พืช มาจากไหนเล่า?
เดินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินไปแล้ว
อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิดให้มากๆ เพราะชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้อยู่คนเดียว
เราอยู่ในสังคมก็ควรจะประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ แก่สังคม
ถ้าในกลุ่มชนใดมีบุคคลประเภทที่เสียสละประโยชน์ตนเพื่อ ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นแล้ว สังคมนั้นจะมีความสุข
พระพุทธองค์ท่านได้ทรงกระทำอย่างนั้น เมื่อสอนสาวกให้ ปฏิบัติงาน รู้แนวทางการสอน
และปฏิบัติตนพ้นจากความทุกข์ได้แล้ว พระองค์ก็บอกว่า...
“เธอพ้นแล้วจากบ่วงอันเป็นทิพย์ จากบ่วงอัน เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลาย...
จงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เพื่อความ สุขแก่มหาชน
จงประกาศแนวทางชีวิตที่ถูกที่ชอบแก่คนเหล่านั้น
คนที่มีปัญญา มีไฝฝ้าบังดวงตาน้อยๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะ ไม่ได้ยินได้ฟัง
จึงไม่เกิดความรู้ความเข้าใจ เธอจงไปสอนคน
เหล่านั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจ อย่าไปทางเดียวสองรูปเพราะ
คนน้อย ไปรูปเดียว...ทางเดียว แล้วช่วยกันประกาศแนวทางที่ถูก ที่ชอบแก่คนเหล่านั้น”
และพระองค์ตรัสว่า “เราเองก็จะไป เหมือนกัน”
พระองค์ก็ทำงาน สาวกก็ทำงาน
ทำงานอะไร?...ทำงานชี้ทางเดินที่ถูกต้องแก่คนทั้งหลาย
เหมือนบทสวดมนต์ที่สมัยเด็กๆสวดว่า
“ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุข เกษมศานติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย” นี่พระองค์
ไปชี้ทางให้เขาเดิน ให้คนทั้งหลายได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ นี่คือชีวิต ตัวอย่าง
และถ้าเราศึกษาชีวิตของพระองค์แล้ว ก็จะมองเห็นว่าทรง ปฏิบัติพระองค์เพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่ผู้อื่นตลอดเวลา
บางครั้ง พระองค์ก็ทรงช่วยเหลือสาวก
เช่นมีอยู่คราวหนึ่ง พระรูปหนึ่งป่วยมาก น้ำเหลืองเต็มไปทั้งร่างกาย นอนเจ็บอยู่ในกุฏิ
ไม่มีใครเหลียวแลเอาใจใส่
พระองค์เมื่อตื่นแต่เช้าตามปกติก็มักจะแผ่ญาณมองไป
คิดไปว่าวันนี้ ควรจะไปช่วยใคร ใครเกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนบ้าง
อันนี้ก็สำคัญที่เราควรเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ตื่นแต่ เช้านี้เราควรจะคิดว่า
วันนี้เราจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ได้โดยวิธีใด
มีอะไรที่จะรับใช้เพื่อนมนุษย์ ที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์
มีความสุขความสบายในฐานะที่เราพอจะช่วยได้มีบ้างไหม?
มองใน ครอบครัว มองออกไปบ้านใกล้ เรือนเคียง มองออกไปในสังคมที่เรา ปฏิบัติงาน
มองไปให้รอบๆว่ามีอะไรที่เราจะช่วยให้คนอื่นได้มีความสุข ความสบายขึ้นกว่าปกติได้
เมื่อเห็นสิ่งนั้นแล้ว เราก็ไม่อยู่นิ่งอยู่เฉย เราต้องไปช่วยคนเหล่านั้นให้พ้น
จากความมีปัญหาไปคลายปัญหา คือความทุกข์ทางใจให้แก่คนเหล่านั้น
อันนี้เรียกว่าเราได้ “เดิน ตามรอยพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า”
เพราะพระพุทธเจ้า นั้นทรงตื่นบรรทมประมาณตีสี่ แล้วก็ทรงแผ่พระญาณที่เป็นความรู้
ทางจิตพิเศษออกไป ว่าใครเป็นทุกข์บ้าง ใครเดือดร้อนบ้าง จะได้ไปสอน
เขาให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน ที่เรียกว่า “ไปโปรด” นั้นคือ
“ไปชี้แนวทางชีวิตให้คนเหล่านั้นเข้าใจ”
ตามหน้าที่ของพระองค์ ซึ่ง พระองค์ทรงกระทำอย่างนั้นตลอดมาเป็นเวลา ๔๕ ปี
เราจึงควรจะได้ ถ่ายทอดวิธีการนี้มาไว้ในวิถีชีวิตของเราด้วย เราคิดว่า
“วันนี้เราจะทำ ประโยชน์อะไรแก่ใครบ้าง” อย่าไปคิดว่า “วันนี้จะไปเอารัดเอาเปรียบ ใครได้บ้าง”
อย่าคิดในเรื่องจะเอาอะไรจากใคร แต่คิดว่าเราควรจะ ให้อะไรแก่ใครได้บ้างในวันนี้
ยิ่งให้ ยิ่งได้
อย่าคิดในเรื่อง “เอา” ให้คิดแต่ในเรื่อง “ให้” อย่าตกใจว่า ให้แล้ว มันจะไม่ได้ เพราะ “ให้”
นั่นแหละ...มันจึงได้ แต่ถ้าไม่ให้แล้วจะได้อะไร คนไม่ให้น่ะไม่ได้อะไรหรอก ถ้า “ยิ่งให้” มันก็ “ยิ่งได้”
พระพุทธเจ้าท่านอยู่ด้วยการให้ ไม่ใช่อยู่ด้วยการรับ การรับนั้น เป็นผลที่พระองค์ให้เพียงเล็กน้อย
ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ในชีวิต ของพระองค์ แต่ว่าทรงให้มาตลอดเวลา นี่เรียกว่า “ให้”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ ของเรา นั้นก็ได้ปฏิบัติในเรื่องนี้
คือทรงให้อยู่ตลอดเวลา ไปให้ความสุขแก่ ชาวบ้านในท้องถิ่น
เพียงแต่เขาเห็นก็เป็นสุขแล้ว สุขด้วยการได้
เห็นบุคคลที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เห็นบุคคลที่มีคุณธรรมก็มีความสุข
ทางใจ นี่เขาเรียกว่า “ให้” อย่างน้อยให้เขาเห็น ...ก็สบายใจ
แต่ว่าพระองค์ไม่ได้ให้เพียงเท่านั้น แต่ทรงพิจารณาว่ามีเรื่อง อะไรเดือดร้อนขัดข้อง
ก็ทรงพิจารณาศึกษาว่า ควรจะปรับปรุงอะไรบ้าง เลยเกิด “โครงการในพระราชดำริ” ขึ้น
อีกประการหนึ่งพระองค์ให้ทำอะไรแล้วเสด็จไปตรวจตรา ด้วย
เสด็จไป “ให้” ก็มีแต่ความสุขสบาย
ที่จังหวัดเชียงใหม่สมัยก่อนนี้ มีครูบาศรีวิชัย
ใครเคยไปเที่ยว เชียงใหม่นั่งรถขึ้นดอยสุเทพ...สบาย นั่นฝีมือของครูบาศรีวิชัย ทำงาน๕ เดือน กับ ๒๒ วัน
ตัดถนนขึ้นยอดภูเขาให้รถวิ่งได้ อาศัยบารมีความ เมตตาของครูบาศรีวิชัยเหมือนกับเนรมิต ถนนเสร็จเรียบร้อย
ก่อน ขึ้นบนดอยสุเทพเราจะเห็นรูปพระยืนตระหง่านอยู่ตรงนั้น นั่นแหละ
เจ้าของถนนผู้ทำให้เราเกิดความสบาย ปกติของ ครูบาศรีวิชัยนั้นมี
ปฏิปทาข้อปฏิบัติอย่างไร...ท่าน “ไม่เอา” เป็นผู้ “ไม่เอา” มีแต่ “ให้”
มีแต่ให้ ท่านไปทำอะไรที่ไหนไปมือเปล่า ไปนั่งที่นั่น เมืองเหนือเรียกว่า
ไปนั่งหนัก คือนั่งอย่างหนักแน่นอย่างอดทน ถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่ไปจาก ที่นี่ ท่านเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดประชาชนให้มาทำงาน
ท่านทำงาน ตรงนั้นเสร็จแล้ว ท่านลุกขึ้นไปเฉยๆ
ไม่หยิบอะไรไปสักชิ้นหนึ่งจาก สถานที่นั้น
อาตมาไปอยู่เชียงใหม่ก็ศึกษาว่าครูบานี่ท่านเก่งอย่างไร? ท่านเก่งตรง
“ไม่เอา” เท่านั้นเอง คนเราถ้าไม่เอา... คนยิ่งให้นะ
คนเอา ...คนยิ่งไม่ให้ ให้ๆไปแล้วหายคนมันก็ไม่ให้ แต่นี่ให้ไปแล้วมันเกิดอะไร ขึ้นมา คนก็ชอบให้
เพราะว่าให้แล้วเป็นประโยชน์ นี่เรียกว่า “ไม่เอา” คือไม่เอาเป็นส่วนตัว แต่เอามาแล้วทำให้เกิดประโยชน์
เขาว่า “ทำบุญกับผู้ไม่เอานั้นได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก” อานิสงส์มันอยู่ตรงไหน?
ตรงที่สิ่งนั้นไปเกิดเป็นสิ่งอื่นต่อไป
บุคคล อย่างนี้เราเรียกว่า เป็น “พระโสดาบัน”
พระอริยบุคคลชั้นพระ โสดาบันคือเป็นบุคคล “ไม่เอา” แล้ว
ไม่เอาเป็นส่วนตัวแล้ว เอามาก็ เพื่อทำประโยชน์ เพื่อทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นค่าแก่สังคมต่อไป
ยิ่งทำ... คนก็ ยิ่งให้ ยิ่งให้มากขึ้น...มากขึ้น
เพราะเห็นว่าทำจริงทำเป็นประโยชน์ หลักการมันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เรามองดูศาสนาอื่นบ้างว่าเป็นผู้ให้ขนาดไหน?
พระ เยซูคริสต์ท่านก็เป็นผู้ให้ตลอดเวลา
ช่วยเหลือคนให้พ้นจากทุกข์ยาก ไม่ต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น ก็คือการทำเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุข แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
เรียกว่าเป็นผู้ให้อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ชีวิต ของบรมครูทั้งหลาย
ศาสดาทั้งหลายนี่มีชีวิตอยู่ด้วยการให้ ไม่หวัง อะไรตอบแทน
นอกจากว่าให้คนอื่นสบายใจ อันนี้เป็นหลักการที่เรา ควรจะนำเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน
ให้พวกเราหมั่นนึกอยู่ทุกๆวันว่า...
“วันนี้เราจะทำประโยชน์อะไรแก่ใครได้บ้าง” เมื่อนึกแล้วเราก็ทำ
การคิดจะทำประโยชน์อะไรแก่ผู้อื่นนั้น ทำได้ทุกเวลานาที เราขับรถไปบนถนนนี่
เราคิดว่าเราจะขับรถอย่างไรจึงจะเป็นความ สบายแก่คนอื่น...มันก็ต้องเคารพกฎจราจร
ไม่แซงในที่ที่ไม่ควรจะแซง มีระเบียบอันใดเราก็ปฏิบัติ คนอื่นก็ไม่เดือดร้อน แต่ขับไม่ถือระเบียบ
ก็สร้างความทุกข์ให้แก่คนทั้งหลาย หรือว่าเราทำสิ่งสกปรกบนถนน หนทาง
สิ่งเหล่านั้นมันเกิดเชื้อโรค อย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่ช่วยให้คนอื่น สบาย
ทำให้คนอื่นเป็นโรค หรือว่าเราจะทำอะไรที่มันก่อปัญหาแก่ คนอื่น เราก็ไม่ทำ
คิดอย่างนี้แล้วมันจะเป็นเครื่องช่วยให้ตัวเราดีขึ้น ให้
ครอบครัวดีขึ้น ให้สังคมดีขึ้น เพราะเราคิดว่าเราจะอยู่เพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราเอง
เมื่อเราจะไปไหนเราก็ตั้งปัญหาว่าไปทำไม? ถ้าเราไปแล้วทำ
ให้คนอื่นเขามีความสุข มีความสบายใจ...เราก็ไป
แต่ถ้าไปแล้ว หนักใจ สร้างปัญหาให้คนอื่น...อย่าไปดีกว่า ทำอะไร
พูดอะไรก็ เหมือนกัน หรือว่าจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง
แต่เขียนแล้วมัน ไปทำคนให้จิตใจตกต่ำ ทำให้คนมีกิเลสเพิ่มขึ้น เราก็ไม่ทำ
นัก แต่งเพลงก็ช่วยกันแต่งเพลงที่คนฟังแล้วเกิดความคิดการกระทำที่
ถูกต้อง เร่งเร้าอารมณ์ในการสร้างสรรค์ในทาง ศีลทางธรรม ทางเพาะเชื้อ คุณงามความดีให้เกิดขึ้นภายในจิตใจจะได้ประโยชน์มากกว่า
เรามาช่วยกันสร้างสรรค์มูลฐานของสังคม ให้เป็นไปใน ทางที่ถูกต้องดีงามตามหลักธรรมทางศาสนา
ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ นับถือศาสนาใด
เนื้อแท้นี่คือตัวธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อทำให้ชีวิต
สงบ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ผู้ปฏิบัติธรรมมีจิตใจสงบ เยือกเย็น
มี ปัญญา มีเหตุมีผล ใช้ชีวิตตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ จุดหมาย มันอยู่ที่ตรงนั้น เราควรจะหันหน้าเข้าหากัน
ประนีประนอมกัน แล้วมา ช่วยกันสร้างสรรค์โลกนี้ให้อยู่ในสภาพสงบ
สังคมมนุษย์เราเวลานี้ ผู้ประพฤติธรรมต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์โลกให้สงบ
การชักจูงผู้อื่นให้เข้าหาธรรมะ ถือเป็นหน้าที่
ทีนี้เราที่เป็นบัณฑิต เป็นผู้มีความรู้ในด้านธรรมะ เราก็มา
ร่วมกันเพื่อจะต่อต้านสิ่งชั่วร้าย เราไม่ทำลายใคร
แต่เราทำลายสิ่ง ชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของคน
ให้คนนั้นมีจิตใจผ่องใส ปราศจากสิ่ง โสโครก เหมือนกับเราเอาน้ำเข้าเครื่องกรอง
กรองแล้วน้ำสะอาด...ดื่มได้ คนเราก็เหมือนกัน ถ้าใครไม่ดีเราก็จับเข้าเครื่องกรองเสีย
แล้วก็ให้เป็นคน บริสุทธิ์ สะอาด เรียบร้อย
อันนี้ควรจะถือว่าเป็นหน้าที่
หน้าที่ของเราทุกคนที่จะชักจูง เพื่อนฝูงมิตรสหายให้ได้ เข้าหาธรรมะ
ให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ อย่าไปจูงเพื่อนเข้าไปสู่ทางแห่งอบาย ให้เดินไปในทางธรรมะ
ช่วย กันทำอย่างนี้ สังคมก็จะดีขึ้น เจริญขึ้น มีแต่ความสงบ ทุกคนก็ ได้รับความสุขทั่วหน้ากัน