พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมเอกลักษณ์
ของชาติไทย
ความรักอิสรเสรีภาพ ที่กล่าวมาแล้วในข้อก่อนนั้น เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชน
ชาติไทย แต่เพราะเป็นคุณลักษณะที่มีสำคัญโดดเด่น และมีที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ
จึงได้แยกพูดเป็นข้อหนึ่งต่างหาก
นอกจากความรักอิสรเสรีภาพแล้ว เอกลัษณ์ไทยที่ค่อนข้างเด่นชัด ก็คือ ความมีน้ำใจ
เมตตาอย่างมีสากลความรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ เรื่อยๆ ปลงใจได้ ไม่ชอบความรุนแรง
และความรู้จักประสานประโยชน์
ลักษณะเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์แต่ละอย่างๆ แต่ทั้งหมดทุกอย่างนั้นสัมพันธ์เชื่องโยงกัน
หรือมีแกนสอดประสานอันเดียวกัน และพระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอม
ให้เกิดเอกลักษณ์เหล่านี้ หรือว่า หลักความเชื่อถือและการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจาก
พระพุทธศาสนา เป็น แกนร้อยประสานเอกลักษณ์เหล่านี้
ความมีน้ำใจ เป็นเอกลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของคนไทยซึ่งชาวต่างชาติมักกล่าวขวัญถึง
อย่างที่เคยเอ่ยอ้างแล้วข้างต้น
ความมีน้ำใจของคนไทยนี้ เป็นไมตรีจิตอย่างสากล คือ แสดงออกแต่คนทั่วไปเสมอ
เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ไม่แบ่งพวกแบ่งหมู่ ไม่จำกัดศาสนา
คนไทยให้เกียรติต่างชาติศาสนา ยินดีต้อนรับคนต่างถิ่นต่างลักทธิ บางทีให้เกียยรติแก่
คนต่างชาติต่างถิ่น ต้อนรับด้วยความมีน้ำใจ อย่างเป็นเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าแสดงออกต่อคน
ในชาติเดียวกัน แม้ว่าในบางกรณี จะมีทัศนคติไม่สู้ดีต่อคนบางกลุ่มบางพวกบ้าง แต่ก็ไม่
เป็นไปอย่างรุนแรง และไม่ผูกใจเหนียวแน่นยาวนาน
ลักษณะนี้แสดงออกอีกด้านหนึ่ง คือ การปรับตัวเข้าได้ง่ายและอยู่ร่วมกันได้ดี กับคนที่มีชาติ
หรือถือศาสนาต่างกัน
ความมีไมตรีอย่างสากลนี้ สอดคล้องกัหลักการของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า มนุษย์และ
แม้สัตว์อื่นทุกอย่างตั้งแต่ดิรัจฉานเป็นต้นไป โดยต่างก็มีกรรมเป็นของตน เป็นไปตาม
อำนาจของกรรมที่ตนกระทำเช่นเดียวกัน
พร้อมกันนั้นก็สอนให้มีความเมตตาอย่างอัปปมัญญธรรม คือ แผ่ออกไปอย่างกว้างขวางไม่มี
ประมาณ ไม่จำเพาะแดน ไม่จำกัดขอบเขต ทั่วถึงสัพสัตว์ทุกหมู่เหล่า
คนไทยมีลักษณะจิตใจที่ไม่ยึดติดถือมั่งอย่างรุนแรงต่อสิ่งทั้งหลาย จึงไม่เอาเรื่องเอาราว
อะไรจิงจังเกินไป แม้จะเกิดความเสื่อม ความสูญเสีย ความพลัดพรากต่างๆ ก็ยอมรับความ
จริงได้ง่ายมองเห็นความเป็นธรรมดา ปลงใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจมากเกินไปหรือนานเกินควร
แม้จะเกิดเรื่องราวถูกเบียดเบียนหรือบีบคั้นข่มเหง คนไทยก็ลืมง่าย ไม่ผูกใจโกรธเกลียดนาน
จึงเป็นคนไม่เคลียด มีความรู้สึกผ่อนคลาย เรื่อยๆ สบายๆ ไม่พยาบาทจองเวรและไม่ชอบความ
รุงแรง เหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นประเภทชั่ววูบแล้วก็ผ่านไป
ทั้งนี้เข้าทำนองที่ว่า "ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด" "แล้วก็แล้วกันไป อโหสิกันเสียเถิด" "อนิจจัง
มีเกิดก็มีดับ" และ "เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ทำใจเถอะนะ"
ลักษณะจิตใจอย่างนี้ มีหลักพระพุทธศาสนาเป็นฐานหล่อเลี้ยง และสนับสนุนกลายประการ
เฉพาะอยางยิ่ง หลักอนิจจัง ที่สอนให้รู้เท่าทันธรรมดา ของสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป
แล้วก็โยงต่อไปหาหลักความไม่ยึดติดถือมั่น ให้ไถ่ถอนสลัดละอุปาทาน และหลักการวางใจ
ต่อโลกธรรมทั้งหลาย ตลอดจนหลักที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรและหลักเมตตากรุณา
ธรรมที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนั้น ความไม่ยึดติดถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งเหนียวแน่นรุนแรงจนเกิดนไปนี้ ยังส่งผลสืบ
เนื่องต่อไปอีกช่วยให้ชาวไทยเป็นคนปรับตัวตัวเข้ากับคนใหม่สิ่งใหม่ได้ง่าย
คนไทยพร้อมที่จะรับวัฒนธรรมตลอดจนสิ่งสนองแปลกใหม่จากภายนอก และรู้จักประสานประโยชน์
สามารถมองมองข้ามส่วนหรือลักษณะที่ขัดแย้ง ที่ไม่เหมาะไม่เข้ากัน ที่ไม่เป็นผลดี หรือที่ไม่เป็น
ผลดีหรือที่ไม่พอใจ จับฉวยแต่ส่วนที่หรือลักษณะที่ใช้ได้ ไปกันได้เหมาะกัน เอื้ออำนวย เป็นคุณเป็น
ประโยชน์เอามาผสมผสาน หรือจัดสรรให้สอดคล้องในทางที่จะบังเกิดผลเป็นประโยชน์
คุณลักษณะทั้งหลายที่จะเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาติขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับเชื่อถือปฏิบัติ
กันจนเคยชินอย่างกว้างขวางทั่วไปในสังคม และได้รับการปลูกฝังถ่ายทอด สืบกันมาตลอดเวลา
ยาวนานจนแนบแนนซึมซาบอยู่ในชีวิตจิตใจอย่างเป็นปกตินิสัยของคนส่วนใหญ่ และแสดงออกมา
ทางพฤติกรรมต่างๆ อย่างเป็นไปเอง
การที่หลักการเชื่อถือและการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมตัวออกมาเป็นเอกลักษณ์ของ
คนไทยเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ากลมกลืนสนิทอยู่ในชีวิตจิตใจของคนไทย
จนถึงขั้นที่กล่าวได่ว่าพุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็นไทย
อย่างไรก็ตาม ว่าโดยทั่วไป สิ่งทั้งหลายที่แม้จะดี ก็ย่อมมีด้านที่เสียหรือส่วนที่ด้อยอยู่ด้วยในตัว
ลักษณะต่างๆที่กล่าวมานี้ ถ้าปฏิบัติผิดเรื่องผิดที่ และขาดหลักการที่เป็นคู่กำกับ หรือเป็นส่วนเติม
เต็มให้เป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ก็อาจก่อผลเสียหายเป็นโทษได้
ดังตัวอย่างเช่น ความเป็นคนเรื่อยๆ สบายๆ ปลงใจได้ไม่จริงจังกับเรื่องราวทั้งหลายมากนัก อาจทำ
ให้กลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ หรือที่ประสบ โดยไม่คิดแก่ไขปัญหา ไม่คิดเปลี่ยนแปลง
และปรับปรุง ขาดความกระตือรือร้น ตลอดจนเป็นคนเชื่อยชา และปล่อยปละละเลยไม่ป้องกันแก้ไข
และไม่กล้าวหน้าสร้างสรรค์
การที่จะเกิดโทษอย่างนี้ขึ้น ก็เพราะถ่ายทอดสืบต่อคุณลักษณะอย่างนั้นตามๆ กันมา โดยไม่ได้ตรวจ
สอบตนเอง และไม่ทบทวนหลักความเชื่อและหลักการปฏิบัติ ทางพระศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มา
ของคุณลักษณะเหล่านั้น ให้ชัดเจนมองเห็นทั่วตลอดอยู่เสมอ เพื่อให้แนวความคิด และพฤติกรรม
ของตนดำเนินไปสู่การปฏิบัตที่ครบวงจร
ขอให้ดูอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นที่ว่า มองเห็นความเป็นอนิจจังแล้วปลงใจได้ สบายใจทุกข์ร้อน
เลยหยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ไม่ใช้ปัญหามองหาเหตุปัจจัยในกระบวนการของความเป็นอนิจจัง
และดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย ด้วยความไม่ประมาท
คุณธรรมที่จะต้องใช้กำกับเอกลักษณ์ทั้งหลายอยู่เสมอ ขาดไม่ได้เลยในทุกเวลา ก็คือ
ปัญญา และ อัปปมาทธรรม หรือพูดให้ง่าย ก็ได้แก่ ปัญญา และ สติ แล้วไปๆ มาๆ
ก็คือ สติ-ปัญญา ที่พูดกันเรื่อยเปื่อยเพลินไป จนกลายเป็นพูดโดยประมาท ขาดทั้ง
สติ และปัญญา
เป็นอันต้องย้ำอีกทีว่า ไม่ประมาท และ ไม่ขาดปัญญา
..........................................................................
คัดลอกมาจาก
หนังสือเรื่อง ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ
ท่านสามารถดูรายละเอียดหนังสือเล่มนี้//สั่งซื้อได้ที่
http://www.trilakbooks.com/product/1726634/ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ.html