ทำอย่างไรจึงจะพ้นกรรม
เรื่องกรรม นี้ ส่วนมากยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงตามที่เป็นจริงของหลักพุทธศาสนาคือรู้กันแต่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเป็นคำสอนของศาสนาทั่วไป เพราะเรื่องกรรมของพระพุทธศาสนานั้น ได้กล่าวถึงกรรม (การกระทำ) ที่จะให้สิ้นกรรมอีกด้วย กล่าวคือ ให้สิ้นไปทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว เพื่อไม่ต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมดี กรรมชั่ว เลยกลายเป็นการอยู่เหนือกรรม ไม่ต้องหวั่นไหว หรือเป็นทุกข์ เพราะดีเพราะชั่ว คือเป็นพระนิพพาน (สภาพแห่งความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง) นั่นเอง
เรื่อง กรรมที่คนเขาสอนกันตามวัดตามวา และที่ชาวบ้านเข้าใจกันอยู่นั้น มันยังเป็นเรื่องขั้นศีลธรรม เพราะคนส่วนมากไม่รู้จักหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ จึงยังคงยึดถือว่าเขามีตัวมีตน และมีอะไรๆ เป็นของตน (อัตตวาทุปาทาน) เช่นทำบุญอะไร ก็เพื่อหวังเอาบุญมาเป็นของตน หรือหวังเอาสิ่งตอบแทน หากผิดหวังก็คงจะเสียใจ กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้เหมือนกัน คือ ยังต้องเวียนวายอยู่ในอำนาจของกรรม สู้การอยู่เหนือกรรม หรือพ้นกรรมไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้า นอกจากพระองค์จะสอน เรื่องกรรมดี (กรรมขาว) กรรมชั่ว (กรรมดำ) อย่างศาสดาอื่นๆ แล้ว ท่านยังสอนเรื่อง กรรมเหนือกรรม (กรรมไม่ดำไม่ขาว) กล่าวคือ เรื่องการกระทำที่จะทำ ให้พ้นจากอำนาจของกรรมทุกอย่าง ซึ่งศาสดาอื่นๆไม่สอน ฉะนั้น กรรมประเภทที่ ๓ นี้จึงเป็นเรื่องในระดับของสัจจธรรม หรือปรมัตถธรรม ซึ่งแม้ในเมืองไทยก็ไม่มีใครยอมสอนเช่นเดียวกัน
คำว่า...กรรม...นี้ จะต้องเป็นการกระทำด้วยเจตนา ด้วยกาย หรือวาจา หรือใจ ถ้าไม่มีเจตนาก็ถือว่าเป็นเพียง...กิริยา...และไม่มีผลว่าจะเป็นบาป หรือเป็นบุญ หากจะมีผลอะไรเกิดขึ้นมา ก็เรียกว่าเป็น...ปฏิกิริยา...ไม่ใช่...วิบาก...(ซึ่งแปลว่า ผลของกรรม) ฉะนั้น การกระทำใดๆ ของพระอรหันต์ หรือ ของพระพุทธเจ้า จึงไม่เรียกว่า กรรม...แต่เรียกว่า...กิริยา
ควรรู้ไว้ ด้วยว่า...เจตนา...นั้น ต้องประกอบด้วยกิเลส หรือ อวิชชา ฉะนั้น จึงพูดได้เลยว่า กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมลงไปแล้วก็ย่อมได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แล้วก็จะก่อกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำกรรมใหม่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จนถือได้ว่าเป็นวัฏฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) แห่งความอยาก กระทำตามอยาก ได้รับผลหรือไม่ได้รับผล ก็อยากต่อไป กระทำต่อไป และในวงกลมนี้แหละ ความทุกข์ใจต่างๆ นานาจะประกฎขึ้นมาแก่ เขาผู้กระทำกรรม ฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่ต้องการมีความทุกข์ใจเลย ก็ต้องรู้วิธีทำความสิ้นไปแห่งกรรม ซึ่งถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุดก็คือ อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าเรามีตัวตน หรือมีอะไรๆ เป็นของตน โดยถือหลักว่า ถ้ามีตนก็มีกรรม ถ้าหมดตัวตนก็หมดกรรม หรือพ้นกรรม
เรื่องกรรม จะส่งผลเร็ว หรือช้าอย่างไร ผู้ที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ก็ยังอธิบายผิดไปอีก เช่น กรรมบางอย่างให้ผลทันทีทันใดเมื่อทำเสร็จ ถ้าให้ผลในระยะต่อมาอีกหน่อย เรียกว่า อุปปัชชเวทนียะ และถ้าให้ผลในระยะนานไปอีกหน่อย เรียกว่า อปราปรเวทนียะ และถ้ากรรมใดให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือตกลงกันได้ โดยไม่ถือเป็นความผิด ก็เรียกว่า อโหสิกรรม แต่แล้วชาวพุทธที่ถือลัทธิสัสสตทิฏฐิของพราหมณ์ ก็ยกเอาผลกรรมประเภท ๒ และ ๓ ไปไว้ในชาติหน้า ชาติโน้น หลังจากตายแล้วอีก ซึ่งคำบาลี ก็หมายถึง...ทันควัน...เวลาถัดมา และเวลาถัดๆมาอีก อันเป็นเรื่องภายในชีวิตนี้ที่จะมองเห็นกันได้ นี่แหละ คือ ความสับปรับของผู้สอนพุทธศาสนาส่วนมาก ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า...เขาทำกรรมในอัตตภาพ...(ชีวิต) ใด ย่อมเสวยผลในอัตตภาพนั้นเป็นทิฏฐธรรมบ้าง เป็นอปราปริยายะบ้าง...(อันไม่ใช่เรื่องที่จะได้รับผลต่อตายแล้ว)
การกระทำสิ่งใดๆ โดยไม่เจตนา (ร้าย) ซึ่งเราไม่เรียกว่าเป็น...กรรม...นั้น ยังให้ความสะดวกใจแก่ผู้ทำ เพราะรู้ว่ามันไม่เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน เช่นการกินยาถ่ายตัวพยาธิในร่างกาย การต่อสู้ข้าศึกศัตรูที่มารุกรานประเทศชาติ การปราบปรามโจรผู้ร้าย การสั่งลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ฯลฯ ทั้งนี้โดยถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่เพื่อรักษาธรรม หรือรักษาร่างกาย อย่างนี้เรียกว่า...พ้นกรรม...เหมือนกัน อันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ทางใจได้
ผัสสะ (การสัมผัส) ใดๆ ทำให้เขาเกิดความร้อนใจมากทางพุทธศาสนา ก็เรียกว่า เขาผู้นั้นเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้าทำให้เขาโง่มากขึ้นไปอีก เขาก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าทำให้เกิดความโลภจัด เขาก็กลายเป็นเปรตซึ่งหิว หรืออยากได้อะไรๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าสัมผัสแล้วใช้สติปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ถือว่าเขายังเป็นมนุษย์ ถ้าผัสสะนั้นๆ ทำให้เขาสบายใจ หรือมีความสุข ก็ถือว่าเขาเกิดเป็นเทวดา ถ้าทำให้เกิดความสงบทางใจไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ เขาก็กลายเป็นพรหมไปในขณะนั้นเอง ไม่ใช่แบบที่คนสอนกันอยู่ทั่วไปในวัด ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น ถ้าใครไม่ต้องการเกิดเป็นอะไรเลยใน ๕ อย่างดังกล่าว พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้ดับเสียซึ่ง...ผัสสะ...ซึ่งต่างกับใน เรื่องการดับทุกข์ที่ท่านแนะนำให้ดับอวิชชา ตัณหา อุปาทานใน เรื่องนี้หมายความว่า เมื่อเราได้รับการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ต้องใช้สติเป็นเครื่องควบคุมจิตใจอย่าให้นึกคิดไปในทางของกิเลส จนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงงมงาย การสัมผัสนั้นจึงจะไม่ก่อความหวั่นไหวต่ออารมณ์ เช่น เห็นก็ให้เป็นแต่เพียงว่าเห็น ไม่ให้เป็นเวทนา หรือความรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจ แล้วมันก็จะไม่เกิดความอยาก ความยึดไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติเป็นตัวกูของกู คือ ไม่เกิดเป็นอะไรทั้งหมด นี่แหละคือการดับแห่งกรรม
กรรมเหนือกรรม กรรมสิ้นกรรม หรือ กรรมพ้นกรรม โดยมี มรรคมีองค์๘ ประการ เป็นแนวทางปฏิบัติ เช่นมีความเข้าใจถูกต้อง มีความปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีความเพียรถูกต้อง มีสติระลึกอยู่ในใจถูกต้องและมีสมาธิถูกต้อง (อ่านพุทธธรรมกำมือเดียว)
บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ระบุว่าธรรมะที่ชื่อว่า โพชฌงค์ จะทำให้สิ้นไปแห่งกรรม คือการมีสติ มิให้การสัมผัสประกอบไปด้วยอวิชชา รู้จักเลือกเพ้นวิธีที่จะรับการสัมผัสโดยมิให้กลายเป็นเหตุแห่งกรรม ใช้ความเพียรในการปฏิบัติให้มากขึ้น มีความพอใจในผลที่เราทำได้ แล้วจะเห็นว่าเรื่องราวต่างๆ มันเข้ารูปเข้ารอบก้าวหน้าไปอย่างสงบ เกิดความแน่วแน่ หนักแน่น ไว้ใจได้ถึงกับการวางใจรอ ได้คอยได้ในผลที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังที่พระองค์ก็กล่าวยืนยันไว้ว่า เมื่อมีโพชฌงค์อย่างนี้ตัณหาย่อมละไป เพราะตัณหาละไป กรรมย่อมละไป เพราะกรรมละไป ความทุกข์ย่อมละไป ด้วยเหตุดังนี้แล ความสิ้นไปแห่งกรรมย่อมมี เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา ความสิ้นไปแห่งทุกข์ ย่อมมีความสิ้นไปแห่งกรรม
เมื่อได้พูดแล้ว ถึงเรื่องทำอย่างไรจึงจะพ้นกรรมใหม่ ทีนี้ก็เหลือปัญหา เรื่องกรรมเก่า มีพุทธภาษิตอยู่ในคัมภีร์สังยุตานิกาย ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นแหละเรียกว่า เป็นกรรมเก่า (เพราะมันพร้อมเสมอที่จะรับการสัมผัส) ส่วนกรรมใหม่นั้น พระองค์อธิบายว่า เป็นการกระทำด้วยอวิชชา ด้วยเจตนาทางกาย วาจา และใจ ที่มันมีต้นเหตุ งอกออกมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของตนนั่นเอง บางครั้งพระองค์ก็บอกว่า กรรมเก่าก็คือกายนี้ (รวมทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งไม่ใช่ของเธอและของคนอื่นด้วย (นี่ก็เป็นการย้ำว่าจิตใจ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วิญญาณนั้น ไม่เป็นของใครเป็นเพียงธรรมชาติที่ไหลไปเรื่อยๆ ตามกฎเกณฑ์
จากพุทธพจน์นี้เอง ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา คือกฎที่ว่า เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นมาเป็นเหตุ ก็ย่อมเกิดอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตามมา อันเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ เมื่อใครรู้สัจจธรรมข้อนี้ ก็จะเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่น อันเป็นหัวในของการปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น เช่น เริ่มด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นในผัสสะ เป็นอันดับแรก แล้วจะได้ไม่เป็นต้นเหตุแห่งกรรม ผลของกรรม (วิบาก) ก็จะไม่มี ทุกข์หรือสุขก็ไม่มี มีแต่ความสงบสันติของอารมร์ที่เรียกว่า สะอาด สว่าง สงบ
มีกิจการงานอะไรก็ทำของตนไป จะมีอะไรก็มีได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตน อย่างนี้ก็เป็นการอยู่เหนือกรรม ส่วนปัญหาที่ว่าจะทำกรรมเก่าให้หมดไปได้อย่างไรนั้น ก็ขอตอบว่า เมื่อเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็จะไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน ที่จะออกไปรับว่านั่นเป็นกรรมเก่าของเรา นี่เป็นผลกรรมเก่าของเรา พร้อมๆไปกับการ ไม่รับผลกรรมใหม่ ว่าเป็นของเราด้วย โดยถือหลักว่ามันเป็นไปตามกฎ มันไม่ใช่เรื่องตัวเรา หรือไม่รับเอาเป็นของเรา...
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่