มนุษย์ประเสริฐ เพราะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ (จาก..หนังสือจาริกบุญ จารึกธรรม)
หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยธรรมก็เท่านี้แหละแต่ขยายไปสู่หลักปลีกย่อยต่างๆ
จนละเอียดยิบ แล้วหลักปลีกย่อยเหล่านั้นก็โยงถึงกันหมดทุกอย่าง
ข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงแต่หลักเท่านั้น แต่ทรงให้กำลังใจพวกเราด้วยว่า "มนุษย์เป็น
สัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้นะ" อันนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พร้อมกันนั้น มองอีกด้านหนึ่ง พระองค์
บอกว่า ''มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝน"
คำว่า...ฝึกได้...นี่ทำให้เกิดกำลังใจ แต่คำว่า...ต้องฝึก...ทำให้สำนึกในหน้าที่ ว่าเราเป็นคน จะต้อง
ฝึกตน ถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์ กับสัตว์อื่นทั้งหลายว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ว่ามีการฝึกฝน
พัฒนาได้เท่านั้นเองส่วนสัตว์ชนิดอื่น มันฝึกฝนพัฒนาไม่ได้ ข้อแตกต่างมีอยู่ดังนี้
สัตว์ทั้งหลายอื่นที่เราเรียกว่า เดรัจฉานนั้น มันอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก ในแง่สัญชาตญาณแล้ว
สัตว์เหล่านั้นเก่งกว่าเรา เราอย่าไปเทียบเลย ในเรื่องสัญชาตญาณ
มนุษย์เกิดมานี่อาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่ค่อยมีความสามารถอะไรติดตัวมา มีแต่ศักยภาพรอไว้
ที่จะพัฒนาได้มากมายด้วยการฝึก
ลองพิสูจน์ก็ได้ว่าเราแพ้สัตว์อื่นทั้งหลายในเรื่องสัญชาตญาณ สัตว์อย่างอื่นนั้นเกิดมา พอออกจากท้อง
พ่อท้องแม่ ก็มีชีวิตอยู่ได้ ช่วยตัวเองได้แทบจะทันที หลายชนิดทีเดียวเดินได้เลย ว่ายน้ำได้เลย หากินได้
เลย
แต่มนุษย์นี้อ่อนแอมาก พอคลอดออกมาแล้ว ถ้าไม่มีใครเลี้ยงดูประคบประหงม ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
ต้องมีคนเลี้ยงดู จนกระทั่งแม้แต่อยู่มาได้ปีหนึ่งแล้ว ก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าใครทิ้งก็ตาย ต้องเลี้ยงกันอีก
หลายปี อาจเป็นสิบๆ ปี มนุษย์จึงจะอยู่รอด สามารถดำเนินชีวิตได้
การที่จะดำเนินชีวิตได้ ก็คือ ระหว่างที่เขาเลี้ยง ตัวเองก็เรียน คือ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตนไป จนกระทั่ง
สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
เป็นอันว่า โดยสัญชาตญาณ มนุษย์เป็นสัตว์ที่อ่อนแอไร้ความสามารถที่สุด แต่มีข้อดี พิเศษก็คือ ฝึกได้
เรียนรู้ได้
มนุษย์มีการเรียนรู้ คือ การศึกษา นั่นเอง เมื่อมีการเรียนรู้ คือมีการศึกษา ก็ทำให้สามารถทำอะไรต่ออะไร
ขยายออกไปได้ สามารถรับถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่า เช่น พ่อ-แม่บอก ครูอาจารย์บอก คนแวดล้อมบอก
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นๆ สามารถเอาความรู้ที่สะสมมาเป็นเวลาพันๆ ปี มาอยู่ในคนเดียวได้ อันนี้เป็นข้อประเสริฐ
พิเศษของมนุษย์ ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น
สัตว์ทั้งหลายอื่นสะสมถ่ายทอดความรู้มาโดยทางสัญชาตญาณ แต่มนุษย์สะสมถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีเรียน
รู้ได้ด้วย ใครรู้จักเพียรเรียนรู้ ก็ยิ่งรู้ยิ่งพัฒนา ใครไม่เพียรไม่รู้จักเรียน ก็ไม่ได้ความรู้ และพัฒนาตนเองไม่ได้
ความพิเศษของมนุษย์นั้น อยู่ที่การเรียนรู้อย่างที่ว่าแล้ว การเรียนรู้นี้ ก็คือการศึกษา การศึกษาเป็นเรื่องของ
การฝึกฝนพัฒนาคน และองค์ธรรมสำคัญในการศึกษา ก็คือ ปัญญานั้นเอง ปัญญาทำให้รู้ ทำให้คิด-พูด-ทำได้ผล
ทำให้ปฎิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง และแก้ปัญหา และทำการทั้งหลายได้สำเร็จ
ส่วนสัตว์ทั้งหลายอื่นอยู่ด้วยสัญชาตญาณ เคยอยู่มาอย่างไร ก็อยู่ไปอย่างนั้นตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไรก็ตาย
ไปอย่างนั้น
ส่วนมนุษย์นี้เกิดมาโดยไร้ความสามารถ แต่เมื่อได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนไปจนกระทั่งมีความสามารถพิเศษอย่าง
แทบจะไม่มีที่สิ้นสุดในทางกาย เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น มาแต่ตัวก็ไปแต่ตัว แต่ในทางจิตใจ และปัญญา เกิด
มาแล้วกว่าจะตาย ถ้าได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลิศประเสริฐอย่างมากมาย
การที่เรามีพระพุทธเจ้าไว้นี้ เป็นประจักษ์พยานของการพัฒนามนุษย์ ให้เห็นว่ามนุษย์นี้สามารถพัฒนาได้สูงสุดจน
เป็นพุทธะ
พุทธะ นั้นคือ การที่ธรรมแสดงภาวะที่พัฒนาสูงสุดของมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นพัฒนาสูงสุดได้ถึงขนาดนี้ ความเป็น
พุทธะจึงเป็นตัวแบบสำหรับมนุษย์ทั้งหมด เรากล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ ก็เพราะสามารถพัฒนาได้จนเป็น
พุทธะ
ข้อย้ำว่า พระพุทธศาสนา ไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก
ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ได้ เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆ ขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่า
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด
เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธพจน์มากมาย ที่ให้กำลังใจแก่มนุษย์ ว่าอย่ามัวไหว้วอนรอความช่วยเหลือจากเทวดา ขอ
ให้มนุษย์เราฝึกฝนพัฒนาตนไป แล้วเทวดาพรหมทั้งหลายจะน้อมนมัสการเราเอง
เราไม่ได้ไปเรียกร้อง เราไม่ได้ไปดูถูกท่าน แต่เพราะคุณความดีจากการได้บำเพ็ญการฝึกฝนพัฒนาตนนั่นแหละ
เทพพรหมทั้งหลายก็ยอมรับนับถือ หันมาน้อมนมัสการ
นี้เป็นการเตือนมนุษย์ไม่ให้มัวสยบอยู่ มนุษย์ในสมัยก่อนพุทธกาลนั้น มัวแต่มองไปข้างนอกตัว ไม่มองดูตัวเอง
ว่า เราจะต้องทำอะไร มองแต่ว่าเราจะไปขอให้เทพเจ้าองค์ไหนช่วย มองไปหาพระพรหม มองไปหาเทวดาว่า
ท่านจะช่วยอะไรเราได้บ้าง แล้วก็ไปอ้อนวอน คิดแต่อย่างนั้น ไม่เอาใจใส่ที่จะฝึกฝนพัฒนาตน นี่แหละมนุษย์
ชอบเป็นอย่างนี้
ที่จริง ทำอย่างนั้นมันก็ง่ายดี มนุษย์ทั่วไปก็มีความโน้มเอียงที่จะทำอย่างนั้น ขอคนอื่นง่ายกว่า ทำเองมันยาก
เลยไม่คิดฝึกตนสักที คิดแต่จะขอจากเทพเจ้า ขอให้พระพรหมช่วยบันดาล และหาทางเอาอกเอาใจเทพเจ้า จน
เกิดเป้นพิธีบูชายัญ ต่างๆ ใหญ่โต
พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จาก
การที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยน
แปลงที่สำคัญ
พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจ เรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง ความพิเศษของมนุษย์นั้น คือ การ
เป็นสัตว์ที่ฝึกได้
คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลี เรียกว่า ทัมมะ พูดสั้นๆ ว่าทัมม์
สัตว์ทั้งหลายอื่นโดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตที่จำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คน
ฝึก
อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ลิงฝึกตัวเองได้ไหม
ไม่ได้ ต้องให้คนฝึกทั้งนั้น ท่านจึงว่า
ฉะนั้น มนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ"
แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา อย่าเอาเลย หันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัส
ไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษ และประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้มีประโยชน์กว่า
ถ้าเรามาถือตามพุทธพจน์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึกนี่ เราจะเห็นทางปฎิบัติเดินหน้าไป ทั้งที่มี
พุทธพจน์ตรัสไว้ เรากลับไม่เอาคำตรัสของพระพุทธเจ้านี่ บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาคำ
ที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" ก็ต้องต่อด้วยว่าเป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก จึงจะครบถ้วนใจความที่พระพุทธ-
เจ้าตรัสไว้
รวมความว่า พระพุทธเจ้าได้ชี้ธรรมให้ ได้แก่ ความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นการดึงความสนใจจาก
เรื่องเทพมาสู่ธรรม ดึงความสนใจจากการรอคอยอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า มาสู่การทำความเพียรพยายาม
ด้วยกรรมที่ดีของตนเอง
เมื่อดึงมาแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่ทรงชี้มาที่ในตัวมนุษย์อีกว่า อย่าท้อใจนะ ให้มีกำลังใจ เราเป็น
สัตว์พิเศษที่ฝึกตนเองได้ พัฒนาได้ พอมาถึงตอนนี้มนุษย์ก็ดีใจ...
(หนังสือ..จาริกบุญ จารึกธรรม จาริกนมัสการ และแสดงธรรมกถา ณ สังเวชนียสถาน)
พิมพ์ครั้งที่ : ๓๖
ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)