การรักษาศีล
"ศีล" นั้นแปลว่า "ปกติ" คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวัง รักษา
ตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล๕, ศีล๘, ศีล๑๐,
และศีล๒๒๗, และในบรรดาศีลชนิดเดียวก็ยังจัดแยกออกเป็นระดับ
ธรรมดามัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง), และอธิศีล (ศีลอย่างสูง, ศีล
อย่างอุกฤษฏ์)
คำว่า "มนุษย์" นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติ
ของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ตลองไปก็คือศีล ๕ บุคคลที่ไม่มีศีล ๕
ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า "คน" ซึ่งแปลว่า "ยุ่ง" ในสมัยพุทธกาล
ผู้คนมักจะมีศีล ๕ ประจำจัยกันเป็นนิจ ศีล ๕ จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคล
สมัยนั้น และจัดว่าเป็น "มนุษย์ธรรม" ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการ
ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม ๑๐
ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล ๕ ด้วย) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่
กล่าวถึงที่นี้
การรักษาศีลเป็นเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและทางวาจา อันเป็น
เพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการ
ให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยตนเอง ก็ยังได้บุญมากแล้น้อยต่างกันตามลำดับ
ต่อไปนี้คือ
๑. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล
๕ แม้จะถือได้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๒. การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘
แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้งก็ยังได้บุญน้อยกว่าถือศีล ๑๐
คือการบวชเป็นสามเฌรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชได้แต่เพียงวันเดียว
ก็ตาม
๔. การที่ได้บวชเป็นสามเฌรในพระพุทธศาสนา แล้วรักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด
ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าที่ได้อุปสมบทเป็นพระ
ในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียว
ก็ตาม
ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมี
มากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่ง เป็นการออกจากกามเพื่อนำไป
สู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ คือ การภาวนา เพื่อ มรรค ผล นิพพาน ต่อๆไป ผลของ
การรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งแล้วแต่
ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลก
แล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆ หากไม่มีอกุศลกรรม
อื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔
ประการ เช่นอานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ กล่าวคือ
(๑) ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๑ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะทำให้มีพลา
นามัยแข็งแรง ปราศจากโลกภัย ไม่ขี้โรค อายุยืน ไม่มีศัตรู เบียดเบียนให้ต้อง
บาดเจ็บ ไม่มีอบัติเหตุต่างๆ ที่จะทำให้บาดเจ็บ หรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร
(๒) ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๒ ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้
ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย
การทำมาหากินเลียงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้น และ
มั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย
โจรภัย
(๓) ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๓ ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครองหรือคนในปกครองของ
ผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังประสบโชคดีใน
ความรักมักได้พบรักที่จริงจังและจริงใจไม่ต้องอกหัก อกโรยและอกเดาะครั้นเมื่อ
มีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อด้านไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุนคร่าอนาจารไปทำ
ให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาติบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
(๔) ผู้รักษาศีลข้อที่ ๔ ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้
เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำใหผู้ที่สุ้มเสียงไพเราะพูดจามีน้ำมีนวลชวนฟังมีเหตุมีผล
ชนิดที่เป็น"พุทธวาจา"มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใด
ก็มีผู้เชื่อฟังและผู้เชื่อถือสามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดา และศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี
(๕) ผู้ที่รักษาศีลข้อ ๕ ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของ
บุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา
ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดแตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือน
เลอะเลือน ไม่มีสติ วิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทรามปัญญาอ่อน
หรือปัญญานิ่ม
อานิสงส์ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล๑๐ และศีล๒๒๗ ย่อมมีอานิสงส์
เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น ตามระดับประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์เพียงไร
ก็ยังเป็นแต่เพียรการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลางๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่
เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกาย
และวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้งศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้
ฉะนั้นการรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ
รักษาจิต และ ซักฟอกจิตให้เบาบางหรือหรือจนหมดกิเลส คือ ความโลภ โกรธ และหลง
อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดได้บุญมากที่สุด
เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า "มหัคคตกรรม"อันเป็นมหัคคตกุศล
..................................................................
คักลอกมาจาก
หนังสือเรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี
ท่านสามารถดูรายละเอียดหนังสือเล่มนี้//สั่งซื้อได้ที่
http://www.trilakbooks.com/product/1024368/วิธีสร้างบุญบารมี-สมเด็จพระญาณสังวร-ราคา19บาท.html