ง า น . . . คื อ . . . ห น้ า ที่
หน้าที่ก็คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติ จะต้องทำกันเป็นประจำ กับ . . . หน้าที่ที่เป็นโดยได้รับมอบหมายแต่งตั้ง
หน้าที่ที่เป็นเองโดยธรรมชาติ
เช่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก...เป็นเองโดยธรรมชาติ
อีกหน้าที่หนึ่งคือ
หน้าที่ที่เป็นโดยได้รับมอบหมาย แต่งตั้ง
ข้อแรกเป็นเรื่องของครอบครัว
ข้อหลัง..เป็นเรื่องของสังคม ประเทศชาติ จึงกว้างขวางและยิ่งใหญ่กว่ากันหลายเท่า
ท่านทั้งหลายควรภูมิใจว่าตนเป็นบุคคลคุณภาพ
เพราะได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ ควรตระหนักว่า . . . เหนื่อยเพราะทำหน้าที่ ดีกว่าเสียใจเพราะไม่มีหน้าที่ที่จะทำ
มีหน้าที่ รู้หน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่
...จะมีศักดิ์ศรีทั้งทางโลกทางธรรม มีหน้าที่ ไม่รู้หน้าที่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ...จะเสียศักดิ์ศรีทั้งทางโลกและทางธรรม
เพราะฉะนั้น . . . พึงภูมิใจเพราะมีหน้าที่
มีงานก็มีเงิน มีเงินก็มีกิน มีกินก็มีเกียรติ ไม่มีงาน . . . ไม่มีเงิน . . . ไม่มีกิน . . . ไม่มีเกียรติ นอกจากไม่มีเกียรติ ซ้ำยังจะถูกรังเกียจเสียอีกด้วย คนที่มีหน้าที่อยู่ที่ไหนก็เด่นเป็นสง่า
ไม่มีหน้าที่ ไม่มีการงาน ไม่องอาจในการออกสังคม สีหน้าไม่สดใส ใจไม่เป็นสุข
เพราะฉะนั้น . . .
บางท่านบอกว่า เราเกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่อาตมาบอกกับทุกคนว่า เ ร า เ กิ ด ม า เ พื่ อ พั ฒ น า ก ร ร ม อดีตเราไม่รู้ แต่ปัจจุบันเราจะต้องทำให้ดีที่สุด พัฒนาทุกด้านให้ดีที่สุดในปัจจุบัน แล้วจะมีผลไพศาลต่ออนาคต
ท่านจึงสอนว่า . . .
เกิดเป็นคนอย่าให้จนความดี เกิดมาทั้งทีต้องสร้างดีให้ติดตน
อยู่อย่าให้อับ ดับอย่าให้อาย ตายอย่าให้อด
อยู่อย่าให้อับ คือ อย่าให้อับจน อย่าให้อับอาย
อย่าให้อับเฉา อย่าให้อัปยศ อย่าให้อับปาง
. . . ไม่ว่าจะจนแต้ม จนตรอก จนมุม จนทรัพย์ จนปัญญา
เพราะจนแต้มไม่มีทางเดิน จนตรอกไม่มีทางไป
จนใจไม่มีทางคิด จนมุมไม่มีทางหนี จน money ไม่มีเงินใช้
วงศ์ตระกูล ญาติมิตร และสถาบันต้องเสียหาย เพราะพฤติกรรมหรือน้ำมือเรา
อย่าให้อับเฉา
ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ไร้เกียรติยศ ไม่หมดศักดิ์ศรี ทำแล้วมีคนยกย่องนับถือเชิดชูบูชาในทุกกาลสมัย
อย่าทำหน่วยงานให้พินาศ อย่าทำครอบครัวให้แตกแยก
อยู่กับพี่ก็อย่าให้อายพี่ อยู่กับน้องก็อย่าให้อายน้อง อยู่กับชาวบ้านก็อย่าให้อายชาวบ้าน อยู่ในราชการก็อย่าให้สถาบันต้องเสียหาย เรียกว่า แหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน
ความอายเกิดขึ้นจากการที่บุคคลนั้นๆทำอะไรแบบไร้คุณธรรม
คุณธรรมที่จะทำให้เราไม่อับอาย ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในทิศทางธรรม คือ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นนิจขยัน ประหยัดให้มั่น หันหลังทางอบาย แต่เดี๋ยวนี้ก็พึงระวังไว้ มีคนชอบเอาไปแผลงใหม่ว่า... ซื่อกินไม่หมด คนกินไม่นาน แต่ถ้ากินของราชการ กินได้นาน ไม่มีวันหมด... อันนี้เป็นพวกไม่มีหัวคิด แต่เป็นพวกหัวคดทรยศต่อประเทศชาติ
ไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย ไม่ฝ่อ หรือห่อเหี่ยว เป็นพวกหนักเอาเบาสู้ ไม่หลบไม่เลี่ยง ไม่เบี่ยงไม่บ่าย ไม่ทำตัวเป็นลูกตายัง...หลานอาเดี๋ยว = (เดี๋ยวก่อน)
ประหยัดให้มั่น
ดำเนินชีวิตในทางที่จะกอบกู้ฐานะเศรษกิจของตัว และ . . . ครอบครัวให้อยู่รอด ใครก็ตามฐานะร่ำรวย แต่ทำเป็นจน...คนเช่นนี้จะไม่มีวันจน
ฐานะยากจน แต่ทำตนเป็นคนร่ำรวย...จะไม่มีวันรวย
ชีวิตจะสดใส อยู่ไหนก็ไม่ตกต่ำ ต้องหันหลังทางอบาย คำว่า อบาย แปลว่าทางหายนะ ทางแห่งความเสื่อม คนในสังคมทุกวันนี้เสื่อมเพราะอะไร..เพราะบ้า ๔ บ้า
บ้ากามารมณ์ บ้านิยมของมึนเมา บ้าเข้าบ่อนการพนัน บ้าติดพันมิตรชั่ว
ชวนให้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เคลิบเคลิ้ม คนเราที่ขัดสน ยากจน ส่วนใหญ่เพราะหลงใหลใน ๓ ก. หลวงพ่อพุทธทาสบอก ๓ ก. นี่สำคัญ คือ กิน กาม เกียรติ
บ้านิยมของมึนเมา . . .
เสพสุราเมรัย บุหรี่ ยาบ้า ยาอี ยาเค ยาเลิฟ ฯลฯ
สุดท้าย
. . . ตายอย่าให้อด . . .
คำว่าอดในที่นี้หมายถึง อดอยาก อดสู อดสวรรค์
หรือไม่ก็ตายทั้งเป็น ใครรู้เห็นก็หดหู่ใจ
ทุนอะไรที่จะทำให้ไปถึงสวรรค์ ถึงนิพพาน อยู่ดีมีสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ก็คือ บุญกุศล
. . . ทุนมีอยู่ ๒ ทุน . . .
ทุนแรก บุญกุศลคุณงามความที่ทำไว้ด้วยตัวเราเอง เรียกว่า ต้นทุน
อย่างที่สอง ทำบุญกรวดน้ำอุทิศไปให้อีก อย่างนี้เรียกว่า สมทบทุน
อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก อยู่ไม่ลำบาก จากไม่ลำเค็ญ บันเทิงเริงใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ผู้มีต้นทุนและสมทบทุนนั้น เพราะเป็นคนไม่ประมาท
คือ ไม่เมาสังขาร ไม่เป็นมารสังคม ไม่สั่งสมความชั่ว ไม่เกลือกกลั้วอบาย ตายแล้วไปสุคติ เรียกว่า ตายแล้วไม่อด
แต่ถ้าเป็นคนเมาสังขาร . . . นึกว่าเราไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ทำทุนของตนไว้ . . . เป็นพวกเมาสังขาร แถมเป็นมารสังคม . . . ใครเขาจะทำดีก็คอยสกัดขัดขวาง สั่งสมบ่มความชั่วเอาไว้ โลภ โกรธ หลง เกลือกลั้วอบาย ชีวิตก็มีแต่ตกต่ำ ตายแล้วไปทุคติ
มีตัวอย่างที่ประเสริฐจะฝากท่านทั้งหลายเป็นสูตรสำเร็จ
สูตรการปฏิบัติธรรมและปฏิบัติงานเพื่อความงอกงามในชีวิต
ให้ยึด . . . ๒ องค์ . . . จำ ๙ คำ แล้วก็ . . . ทำ ๕ คุณ
ยึด ๒ องค์
ในฐานะที่เป็นคนไทย . . . ให้ยึดองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแบบอย่าง ถ้าเป็นชาวพุทธ . . . ให้ยึดองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง
ชีวิตจะก้าวหน้า ให้ท่องคาถา ๙ คำ
ถ้าชีวิตมีปัญหา ให้แก้ด้วยคาถา ๙ คำ
วายเมเถว ปุริโส ยาว อถสฺส นิปฺปทา
ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้าดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่
ชีวิตไม่สิ้นดิ้นต่อไป มีชีวิตแล้วไม่ดิ้น รอแต่วันสิ้นใจ
อย่าลืมว่า อดีตไม่ขยัน ปัจจุบันไม่ขวนขวาย ไม่ต้องทำนายอนาคต
เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป จนกว่าจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา คาถามีว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ รวม ๙ คำ
และ
ทำ ๕ คุณ
คำว่า คุณ แปลว่าประโยชน์ แปลว่าความดี
เ ริ่ ม ต้ น แ ต่ . . . คุณวุฒิ ความรู้สติปัญญาต้องแสวงหาก่อน คุณสมบัติ กิริยามารยาท สมบัติผู้ดี ต้องมีในตน คุณประโยชน์ ทำอะไรต้องไม่ไร้แก่นสาร เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน คุณภาพ ทำแล้วใช้ได้ ไม่ล้มเหลว คุณธรรม ต้องมีหลักธรรมเป็นหลักนำใจในการประกอบหน้าที่ แล้วจะก่อเกิดเป็นคุณงามความดี
คนเรานั้น...ทำอะไร เป็นอะไรก็ตาม
จะมีอนาคตสดใส ก้าวหน้า จะต้องมีองค์ประกอบ คือ ๑. มีความรู้
ท่านบอกว่า นกไม่มีขน คนไม่มีความรู้ ขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้
๒. มีความสามารถ
ไม่มีหน้าที่...ก็ไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ
๓. มีโอกาส
บางท่านบางคนมีฝีมือดี แต่โอกาสมันปิด...โอกาสไม่เปิด
เข้าตำราว่า มวยดี แต่ไม่มีเวทีชก
๔. มีผู้สนับสนุน
มีผู้หลักผู้ใหญ่ให้โอกาส๕. มีบุญกุศลได้ทำไว้ ได้สั่งสมอบรมบารมีมาแต่ปุเรชาติ
ขอนำหลักที่บัณฑิตท่านคิดไว้
มาฝากเป็นหลักของนักทำงาน ให้ท่านทั้งหลายพิจารณา ดังนี้ ๑. รักจริง ๒. อิงหลัก ๓. ปักป้าย ๔. ใช้มือ ๕. ถือสี่ ๖. ดีพร้อม ๗. ยอมบ้าง ๘. ช่างเขียน ๙. เรียนรู้ ๑๐. สู้งาน
๑. รักจริง
จะทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญจะต้องมีความรักในหน้าที่ พอใจในหน้าที่ เต็มใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่ทำแบบเสียไม่ได้ หรือสักแต่ว่าทำ...อย่างนี้เอาดีไม่ได้ ทำงานที่ไหนอย่ามีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเช่า ต้องทำแล้วมีความรู้สึกว่านี่คือบ้านของเรา เอาจริงเอาจัง ทุ่มเท ดูแล เอาใจใส่ คนอยู่บ้านเช่า...พังก็ช่าง ไม่ใช่บ้านเราฯ ขาดความรับผิดชอบ
๒. อิงหลัก
หลักของนักทำงาน คือ หลักเกณฑ์ หลักการ หลักฐาน หลักธรรม
หลักเกณฑ์ มีกฎกติกาว่าอย่างไร เอาอะไรเป็นประมาณ
หลักการ ทำเพื่ออะไร
หลักฐาน ทำอะไรแล้วให้มีที่มาที่ไป
หลักธรรม เป็นอะไรก็ต้องอาศัยหลักธรรมของการเป็นนั้นๆ
๓. ปักป้าย
ประสบความสำเร็จก็ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ คือบอกล่าวให้โลกรู้ เรียกว่ามีดีอวด ไม่ใช่อวดดี
๔. ใช้มือ
ฉะนั้นมือทั้ง ๑๐ นิ้วสำคัญมาก
วันทา...คารวะ...ขอความรู้ขอความเห็น...ขอความช่วยเหลือ
ท่านทั้งหลายจงนึกถึงเล่าปี่ . . .
เล่าปี่ทำไมเอาขงเบ้งมาช่วยงานได้ ทั้งที่ขงเบ้งนั้นถือตัวมาก
...ก็เพราะนิ้วทั้งสิบ วันทา คารวะ งอนง้อ
จนกระทั่งขงเบ้งเห็นใจ . . .
เราจำไปด้วยเล่าปี่ เพราะอะไร..เพราะนิ้วมือทั้งสิบ
นักทำงาน นักประสานงาน ต้อมีมนุษยสัมพันธ์
ยิ่งมีมนุษยสัมพัน์มาก ทางก็ยิ่งกว้าง ทำอะไรก็สะดวก
ต้องอ่อนน้อม อ่อนหวาน อ่อนโยน จะเป็นคนมีเสน่ห์
๕. ถือ ๔ ...
เป็นผู้ใหญ่ต้องถือพรหมวิหาร ๔...เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความรักใคร่ มีจิตใจสงสาร เบิกบานพลอยยินดี มีใจเป็นธรรม เป็นเพื่อนผู้ร่วมงาน จะประสานงาน สามัคคี ยึดถือน้ำใจ ต้องใช้สังคหวัตถุธรรม ๔...ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ทุกคน วางตนเหมาะสมพอดี เป็นนักทำงาน ต้องมีอิทธิบาท ๔
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แปลถอดความว่า . . . รักงาน ขยันทำ จำมั่น หมั่นพินิจ...ชีวิตก้าวหน้า
. . . รู้ดีเกิดจากการศึกษา . . . สามารถดีเกิดจากการฝึกฝน ประพฤติดีเกิดจากการมีคุณธรรม
๗. ยอมบ้าง
ต้องฉลาดที่จะโง่ นักทำงานหรือนักบริหาร ต้องปากจู๋ หูกว้าง ตาโต โง่เป็น
พูดให้น้อย แต่ฟังให้มาก ฟังทุกอย่าง ฟังทั้งคนในคนนอก
ตาโต ดูอะไรให้กว้าง ให้รอบคอบ อย่าตาถั่ว ต้องตาทิพย์
จะได้ไม่ถูกต้มหรือถูกหลอกได้
โง่เป็น อย่าไปอวดรู้ทุกอย่าง บางอย่างรู้ก็ทำเป็นไม่รู้
รู้มากๆก็ทำเป็นรู้น้อยๆ โบราณว่า...โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก
แต่ขอฝากต่อว่า ถ้าโง่มากๆ ก็ยากจะเป็นใหญ่
อย่าลืมว่า. . . ไ ม่ มี ใ ค ร เ อ า ค น โ ง่ เ ป็ น ผู้ นํ า . . .
๘. ช่างเขียน
หลักหรือหัวใจบัณฑิต คือ สุ จิ ปุ ลิ
สุ...สุตะ ฟังเป็น จิ...จินตะ คิดเป็น
ปุ...ปุจฉา ถามเป็น ลิ...ลิขิตะ บันทึกเป็น
๙. เรียนรู้
ไม่มีใครเป็นมาแต่แรกเกิด ต้องเรียนรู้ทั้งนั้น
ไม่เรียนไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น ไม่ท่องไม่จำ ไม่ทำไม่เป็น จะทำงานต้องรู้จักงาน รู้จักผู้ร่วมงาน รู้ จั ก ง า น ยั ง ไ ม่ พ อ . . .
ต้องรู้จักรู้ใจผู้ร่วมงาน รู้ใจผู้บังคับบัญชา รู้ใจผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยว่าเขาเป็นคนอย่างไร จะได้มอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดกับอัธยาศัย สำหรับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ ให้ “รู้ใจ”
เพราะฉะนั้น...
๑๐. สู้งาน
ทำงานตามหน้าที่ ทั้งงานส่วนตัว งานส่วนรวม...สู้อุปสรรค
อุปสรรคปัญหา เป็นที่มาแห่งความสำเร็จ มารไม่มีบารมีไม่เกิด ปัญหามีไว้แก้ มิใช่มีไว้ให้กลุ้ม ทำงานจะให้มีความสุข ต้องสนุกกับการทำงาน อย่าเบื่อ อย่าบ่น...
หัวใจหรือวิญญาณของนักทำงานจึงอยู่ที่อิทธิบาท ๔ ดังกล่าวแล้ว
คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา . . . คือ รักงาน ขยันทำ จำมั่น หมั่นพินิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งหมายก็คือ ความเพียร...อันเป็นวิญญาณพระมหาชนก อย่าทำๆ หยุดๆ ต้องทำต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
ไม่มีใครล้มเหลว . . . นอกจาก . . . ล้มเลิก . . .
อย่าทำแบบกระต่ายกับเต่า... นิทานอีสปเรื่องนี้สอนอะไร?
สอนให้เห็นถึงอานุภาพความเพียร คนที่หย่อนความเพียรคือคนประมาท จะทำให้พลาดจากประโยชน์ เต่านั้นรู้ตัวว่าช้า...แต่มีความเพียร กระต่ายรู้ตัวว่าเร็ว...แต่ประมาท ขาดความเพียร . . . จึ ง เ สี ย ชื่ อ จ น ปั จ จุ บั น . . .
เ พ ร า ะ ฉ ะ นั้ น . . .
หยุดบ่อยนัก มักไกล จุดหมายมั่น
ถ้าแม้นหมั่น ทนเหนื่อย ถึงเฉื่อยช้า ทีละหน่อย ค่อยค่อยก้าว เหมือนเต่านา ยังดีกว่า เจ้ากระต่าย ในนิทาน อีสปเล่า เจ้ากระต่าย ต้องพ่ายเต่า เพราะมัวเมา เอาแต่สุข สนุกสนาน ประมาทเต่า เตี้ยต่ำ ที่คลำคลาน จึงได้การ อับอาย เมื่อปลายทาง ฯ
เหตุนี้ เราทุกท่านทุกคน
ให้เอาอย่างแมลงผึ้ง ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง
เอาอย่างไก่ อย่าเอาอย่างกบ . . .
ไก่มันขยัน ตื่นเช้ามาขยันขันทุกเช้า
ท่านทั้งหลายจำได้ไหม...ไอ้โต้งเจ้าเล้ามันขันปลุกเราทุกเช้า
โอ้ อี โอ๊ก โอ๊กๆ ฟังให้ดีมันบอกว่า ตื่นแต่เช้าจะมีโชคๆ
แต่บางคนขี้เกียจ ไอ้โต้งขันคอแทบระเบิด ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
...ไอ้โต้งก็ยังขัน โอ้ อี โอ๊ก โอ๊กๆ
แต่ฟังให้ดีมันบอกว่า อยู่ต่อไปก็รกโลกๆ....ไก่มันยังรังเกียจ
...ไอ้แจ้มันขันซ้ำอีก ไอ้แจ้ตัวมันเล็ก เสียงมันก็เล็ก ขันไม่กังวาน
ไอ้แจ้มันขันทับ แอ้ อี้ แอ๊ก แอ๊กๆ
ฟังให้ดีมันบอก “หาไม่พอแด...” ไปคิดเอาเถอะ
แล้วก็อย่าไปเอาอย่างกบ ...
กบมันร้องฟังให้ดี โอ๊บๆๆ จริงๆมันจะบอกว่า หลบๆๆ
เด็กบางคนตัวยังเล็ก เป็นเขียดร้อง แอบๆ
ให้ไปไหนจะกลับลูกเดียว ร้อง กลับๆ งานยังไม่เลิก...กลับแล้ว เดี๋ยวกลับไปรับลูก เดี๋ยวกลับไปรับหลาน กลับไปรับแฟน พอบ่ายสามกว่า...กลับๆ เขาเรียกว่าพวกมาไทย ไปฝรั่ง
มาแบบไทย งานเข้า ๐๘.๓๐ น. อาจจะมาเก้าโมงสิบโมง...ใจเย็นๆ ไปแบบฝรั่ง ๑๖.๓๐ น....งานเลิก เกินวินาทีเดียวก็ไม่ได้ เสียหายวัฒนธรรม...อย่างนี้ไม่ใช่วิญญาณของนักทำงาน
ขออำนาจบุญกุศลคุณงามความดี ความตั้งใจดี
อีกทั้งบารมีแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย คือ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ จงได้ดลบันดาล ประทานพรให้ทุกท่านทุกคน จงนิรทุกข์ นิรโศก นิรโรค นิรภัย ปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบไปด้วยธรรม ขอสิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ ๆ ๆ สมความมุ่งมาดปรารถนา โ ด ย ทั่ ว กั น . . . ทุ ก ท่ า น ทุ ก ค น เ ท อ ญ ฯ
ท่านที่สนใจ สั่งซื้อหนังสือ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติอได้ที่
ไตรลักษณ์ ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา ริมกำแพงวัดญาณเวศกวัน
E-mail : trilak_books@yahoo.com
โทร. 086-461-8505,02-482-7358