จริงหรือที่ว่า ผู้ปฏบัติธรรม ต้องไม่มีความอยาก ตอนที่ ๑
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ วัดญาณเวศกวัน
จากหนังสือ เรื่องปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
http://www.trilakbooks.com/index.php?mo=28&id=237313
ข้อสังเกตุที่ควรมาทำความเข้าใจกันเรื่องต่อไป คือหลายคนมีความรู้สึกว่า ถ้ามาปฏิบัติธรรม หรือเป็นผู้ปฏิบัติ
ธรรมได้ผลแล้ว ก็จะไม่อยากได้อยากดีอะไร เป็นคนที่ไม่มีความอยาก ถ้าจะเป็นชาวพุทธ
ที่มีชื่อว่า เป็นนักปฏิบัติก็ให้รู้สึกไม่สบายใจที่จะพูด ถึงคำว่า "อยาก" แล้วก็จะพยายามหลีกเลี่ยงอาการของ
ความอยาก และพยายามแสดงให้ตัวให้คนอื่นรู้สึกว่าตัวเรานี้ไม่มีความอยาก อันเรื่องนี้ ก็เป็นอันตราย
อย่างหนึ่ง ทำกันจนกระทั่งชักจะให้เกิดความรู้สึกเหมือนมีภาพพจน์ ของผู้ปฏิบัติหรือแม้แต่ชาวพุทธ
ทั่วไปว่า เป็นคนที่ไม่มีความอยาก
ทีนี้ ความอยากนั้น เป็นคำที่น่าสงสัยอยู่ ยังจะต้องทำความเข้าใจ
เหตุที่เราไปจำกัดว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องกำจัดความอยาก ต้องเลิก
ไม่มีความอยาก ก็เพราะเราเข้าใจความอยากนั้นว่าเป็นตัณหา เป็นอกุศลกรรม
แล้วเราก็เข้าใจว่า ความอยากนี้มีประเภทเดียว คือตัณหาเท่านั้น
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ตัณหา คือความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ จะต้องตัดต้องละต้องเลิกให้หมด
เราก็เลยต้องพยายามไม่อยาก พยายามละเลิกความอยาก ต้องพยายามเป็นคนที่ไม่มีความอยาก
แสดงตัวว่า เป็นคนปราศจากความอยากอะไรทำนองนี้
จึงจะต้องทำความเข้าใจกันว่า ความอยากนั้นมี ๒ อย่าง มีความอยากที่ถูกต้องและความอยากที่ไม่ถูกต้อง
อย่ารังเกียจความอยากกราดไปหมด ต้องระวังมาก ถ้าไม่มีความอยาก บางทีความอยาก
ไม่อยากหรือการไม่มีความอยากนั้นแหละอาจจะเป็นตัวกิเลส เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัตินี้ก็ได้
ความอยาก มี ๒ แบบ คืออะไร
ความอยากนั้น ในภาษาพระ ใช้คำกลางๆว่า ฉันทะ
ฉันทะ แปลว่า ความอยาก เรากลับไปเริ่มต้นความอยากที่ฉันทะ ไม่เริ่มต้นที่ตัณหา
ความอยากที่เรียกว่า ฉันทะ หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ฉันทะ ทีนี้ฉันทะที่แปลว่าความอยากนั้น
มี๒ แบบ
ฉันทะ ประเภทที่ ๑ เรียกว่า ตัณหาฉันทะ ตัณหาฉันทะ คือความอยากแบบตัณหา
ความอยากแบบตัณหา คือความอยากได้สิ่งปรนเปรอตน ปรนเปรอตา ปรนเปรอหู ปรนเปรอจมูก ปรนเปรอลิ้น
ปรนเปรอกาย ปรนเปรอใจ คือได้สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขสบายทางประสาทสัมผัส
ความอยากประเภทนี้ มันมีตามธรรมดาของมันเอง โดยที่มนุษย์ยังไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย พอมนุษย์เกิดมา
ก็จะมีความปรารถนา ความอยากจะได้สิ่งเสพมาบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย
โดยไม่ต้องมีความรู้ว่าอะไรเป็นคุณแก่ชีวิตหรือไม่
ในเมื่อความอยากแบบนี้เป็นไปโดยไม่ต้องมีความรู้ จึงเรียกว่า
เป็นความอยากที่เกิดจากอวิชชา ฉะนั้น ความอยากที่เรียกว่า ตัณหานี้ จึงสัมพันธ์กับอวิชชา ไม่ต้องมี
ควาารู้อะไรเลย เป็นไปตามความรู้สึกเท่านั้น พอรู้สึกถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ก็อยากทันที แต่ถ้าไม่ถูกตา หู ลิ้น
ก็ไม่อยาก ไม่ชอบใจทันที อยากได้แต่สิ่งที่บำรุงบำเริปรนเปรอตนเอง เอาแค่ สุขตา สุขหู สุขลิ้น
พออยากขึ้นมาแบบนี้ ก็ำไม่แน่ว่าเกิดคุณค่าแก่ชีวิตหรือไม่ สิ่งที่บำรุงบำเรอตนเองนั้น
อาจจะทำให้เกิดโทษภัยแก่ชีวิตก็ได้ หรือโดยบังเอิญอาจจะเกิดประโยชน์ก็ได้
พูดอย่างภาษาสมัยปัจจุบันก็ว่าอาจจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต หรืออาจจะทำลายคุณภาพชีวิตก็ได้
เป็นเรื่อง สุ่มๆ เสี่ยง ๆ เพราะไม่เป็นไปด้วยความรู้ แต่เอาแค่ความรู้สึกเท่านั้น
จึงมักจะทำลายคุณภาพ ชีวิตเสียมากกว่า
ติดตามต่อตอนที่ ๒