จริงหรือที่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ต้องไม่มีความอยาก ตอนที่ ๒
เหมือนตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกมาพูดบ่อยๆ เช่นอยากในรส
อาหาร ใครๆพอเกิดมาไม่ต้องเรียนรู้อะไร ก็มีความรู้สึกว่าอร่อย
และไม่อร่อย แล้วก็อยากในสิ่งที่อร่อย เมื่ออยากในสิ่งที่อร่อย
ถ้าไม่มีความรู้เลย ก็มุ่งแต่อร่อยอย่างเดียว ทำไปตามความอยาก
กินจนกระทั่งเกินขนาด อาจจะกินสิ่งที่เป็นพิษ เป็นอันตราย
ทำลายคุณภาพชีวิต นี้คือความอยากด้วยตัณหา
แต่ถ้ามีความรู้ขึ้นมา ก็จะมีความอยากอีกประเภทหนึ่ง
เกิดขึ้น เป็นความอยากที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องเกิด
จากความรู้หรือต้องมีความรู้ความเข้าใจจึงจะเกิดขึ้นได้ คือมี
ความรู้ว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเป็นประโยชน์แก่ชีวิตหรือไม่
ความอยากอย่างนี้ เป็นความอยากหรือ ฉันทะประเภทที่ ๒ เรียกชื่อว่า
กุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ แปลว่า ความอยากที่เป็นกุศล
หรือความอยากในธรรม ตอนนี้ เราก็ได้ความอยากครบ ๒ แบบ
ความอยากประเภทที่ ๒ เป็นความอยากในสิ่งที่มีคุณค่า
ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต สัมพันธ์กับความรู้ โดยจะต้องมีการทำลาย
อวิชชา หรือลดอวิชชา และต้องมีวิชชาเกิดขึ้นบ้าง พอเริ่มมีวิชชา
มีความรู้ เราก็เริ่มรู้แยกว่าอะไรเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต
แล้วก็จะมีความอยากประเภที่ ๒ คือ อยากในสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต
หรืออยากทำให้เกิดคุณภาพชีวิต
ความอยากประเภทที่ ๒ คือกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะนี้ เมื่อจะเรียกสั้นๆ
ท่านเรียกแค่ว่า ฉันทะ ระวังจะสับสนตรงนี้
ส่วนความอยากประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า ตัณหาฉันทะ เวลาเรียกสั้นๆ ก็เหลือแค่ ตัณหา
เพราะฉะนั้น คำว่า ตัณหา และคำว่า ฉันทะ ก็เลยกลายเป็นความอยากคนละประเภทไปเลย
แต่ที่จริงนั้น ถ้าเรียกให้เต็ม ตัรหาก้เป็นตัณหาฉันทะ และฉันทะที่เป็นความอยากฝ่ายดี
ก็เป็นกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ชื่อเต็มเป็นอย่างนั้น
รวมความตอนนี้เพื่อให้จำง่ายๆ ก็แยกเป็นความอยาก ๒ อย่าง
คือ ตัณหา อย่างหนึ่ง ฉันทะ อย่างหนึ่ง
ตัณหา คือ ความอยากโดยไม่มีความรู้ เพียงแต่จะสนองความรูสึกเสพสม
บำรุงบำเรอปรนเปรอประสาทสัมาผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตนเอง
ส่วนฉันทะ หรือความอยากประเภทที่ ๒ คือความอยากในคุณภาพชีวิต
ในสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้เริ่มตั้งแต่รู้จักแยกว่า
อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ แก่ชีวิตอย่างแท้จริง
นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อน
.......................................................
จากหนังสือ เรื่องปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
http://www.trilakbooks.com/index.php?mo=28&id=237313