การสวดมนต์ ทำสมาธิ
|
ผู้เรียบเรียงมีโอกาสรู้จักคุณผู้หญิงท่านหนึ่งชื่อ “คุณอารีย์ อาจน้อย หรือ พี่เปีย” เจ้าของร้านคุณเปีย ซึ่งขายของที่ระลึกให้กับ นักท่องเที่ยวอยู่แถวท่าช้าง สนามหลวง กรุงเทพฯ เมื่อครั้งไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ต้นปี ๒๕๕๑ นี่เอง เธอเล่าให้ฟังว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา พี่ไม่เคยเจ็บป่วยหนักถึงขั้นต้องล้มหมอนนอนเสื่อเลย จนกระทั่งเมื่อปี ๔๕ พี่ไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล หมอบอกว่าพี่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีเวลาอีกไม่เกิน ๖ เดือน แรกทีเดียวพี่ตกใจ ท้อใจมาก แต่ก็ทำใจได้ในที่สุด เลยปลงตกว่า ไหนๆ ก็จะตายแล้ว ขอทำความดีก่อนตายดีกว่า จะได้มีบุญช่วยให้ขึ้นสวรรค์ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ไหว้พระสวดมนต์ ทำบุญ ทำทาน และทำสมาธิตลอด ไม่ว่าที่บ้านหรือมีโอกาสไปวัด นับจนบัดนี้เป็นเวลาถึง ๖ ปีแล้ว พี่ก็ยังไม่ตาย นอกจากไม่ตายแล้ว การค้าขายของพี่กลับดีขึ้น บางวันมีรายได้ไม่ต่ำกว่าสอง-สามหมื่นบาท” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งได้อานิสงส์จากการ ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนารักษาโรค ที่เห็นด้วยตาเนื้อของเรา แต่ใช่ว่าการสวดมนต์จะช่วยรักษาโรคให้หายได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ๓ ประการ ดังที่พระนาคเสนเถระได้กล่าวเป็นอุทาหรณ์เปรียบเทียบไว้ใน หนังสือมิลินทปัญหา ว่า “อาหารตามปกติแล้วเป็นสิ่งรักษาชีวิต แต่หากทานเกินขนาด และธาตุไฟหย่อนไม่ย่อยเผาผลาญแล้ว เป็นเหตุให้ถึงตายได้ อาหารจึงรักษาชีวิตไว้ไม่ได้เสมอไป พระปริตรที่สวดก็เช่นกันบางทีก็รักษาได้ บางทีก็รักษาไม่ได้ เพราะมีเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. ถูกแรงกรรมปิดกั้น ๒. ถูกกิเลสปิดกั้น ๓. มีจิตไม่เชื่อในพระปริตร” |
จากหนังสือ "โพชฌงคปริตร พุทธฤทธิ์ พิชิตโรค" โดย ไพยนต์ กาสี |
รักษาโรคด้วยพุทธมนต์
|
มีปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าทรงรักษาพระสาวกผู้อาพาธด้วยพระพุทธมนต์ อยู่หลายครั้ง หลายรูป หรือแม้แต่พระองค์เองเมื่อประชวร ได้ให้ พระสาวกสวดสาธยายพระพุทธมนต์ถวายเพื่อบรรเทาความเจ็บไข้ นี่จึงเป็นเรื่องยืนยันได้ว่า พระพุทธมนต์มีอานุภาพรักษาโรคทางกายและ โรคทางใจได้ ซึ่งมีนัยว่า โรคทางกายและโรคทางใจเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก จะต้องรักษาควบคู่กันไป และมีความสำคัญเท่าๆ กัน พุทธศาสนิกชนพึงเอาใจใส่ดูแลสุขภาพทางกายและใจ อย่าละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังคำที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านแนะนำไว้ว่า*
“เป็นธรรมดาว่า กายกับใจนั้นเป็นสิ่ง ที่อาศัยกันและกัน พอกายเจ็บป่วยไม่สบาย คนทั่วไปก็มักจะพาลจิตใจไม่สบาย เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปด้วย และในทำนองเดียวกัน เมื่อจิตใจไม่สบายก็พลอยให้กายไม่สบายไปด้วย เริ่มต้นตั้งแต่รับประทานอาหาร ไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกัน ในทางตรงกันข้าม คือในทางที่ดี ถ้าจิตใจดีสบาย บางทีก็กลับมาช่วยกาย เช่นในยามเจ็บป่วย ถ้าจิตใจสบาย เช่นมีกำลังใจ หรือจิตใจผ่องใสเบิกบาน โรคที่เป็นมากก็กลายเป็นน้อย หรือที่จะหายยากก็ หายง่ายขึ้น ยิ่งถ้าหากว่ากำลังใจที่ดีนั้นมีมากถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่เพียงแต่ให้โรคบรรเทาเท่านั้น แต่อาจจะช่วยรักษาโรคไปด้วยเลย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า จะช่วยทำใจของเราหรือรักษาใจของเราได้มากแค่ไหนพระพุทธเจ้า และพระมหาสาวกนั้น ท่านมีจิตใจที่พัฒนาให้ดีงามเต็มที่ มีสุขภาพด้านจิตที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ ก็จึงเรียกเอาด้านจิตมาช่วยด้านกายได้เต็มที่ ถ้าไม่เหลือวิสัยของเหตุปัจจัย ก็เอาของดีที่มีในใจออกมารักษากายที่เป็นโรคให้หายไปได้” |
|
*พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต พุทธวิธีเสริมสุขภาพ มูลนิธิพุทธธรรม |
วิจัยพบ สวดมนต์ สมาธิ วิปัสสนา รักษาโรคได้
โดย trmoorati / OK Nation
สิ่งสำคัญของการเริ่มปฏิบัติกรรมฐานคือการสวดมนต์ การสวดมนต์มีผลดีต่อสุขภาพโดยไม่ต้องสงสัย การสวดมนต์นอกจากจะให้ประโยชน์ทางศาสนา คือ ทำให้จิตเป็นสมาธิแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างมากมาย ทำให้มีการผ่อนคลาย ทั้งทางกายและทางใจ นอกจากนั้นยังสามารถใช้บำบัดโรคได้ด้วย ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้หลายเรื่อง เช่น เมื่อพระมหากัสสปเถระอาพาธ พระพุทธเจ้าเสด็จมาและทรงสวดโพชฌงค์ 7 พอทรงสวดจบ พระมหากัสสปก็หายอาพาธ (ปฐมคิลานสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ในทำนองเดียว กัน พระโมคคัลลาน์หายอาพาธ ได้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ให้ฟัง (ทุติยคิลานสูตรสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงอาพาธ ทรงโปรดให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงค์ 7 ถวาย เมื่อสวดจบพระพุทธองค์ทรงหายจากอาการประชวร (ตติยคิลานสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
นอกจากนั้น ในสมัยพุทธกาล อุบาสกยังนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้ที่บ้านเมื่อเจ็บป่วย เช่น ธรรมิกอุบาสก เมื่อใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นิมนต์พระสงฆ์มาสวดสติปัฏฐานสูตร (อรรถกถาธรรมบท)หรือในกรณีของมานทินคหบดี หรือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อไม่สบายก็นิมนต์พระสงฆ์มาสวดที่บ้าน เมื่อสวดมนต์จบความเจ็บป่วยหายไปได้ การสวดมนต์ใน กรณีเหล่านี้ เป็นการนำธรรมมาแสดง การได้ฟังธรรม และได้พิจารณาข้อธรรมต่างๆ ด้วยปัญญาทำให้ผู้ฟังมีความปีติ โสมนัส ชุ่มชื่นเบิกบานใจ จิตใจมีพลัง มีผลให้ความเจ็บป่วยทางกายหายไปด้วย ดังนั้น การสวดมนต์ จึงบำบัดโรคได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีความรู้ความเข้าใจข้อธรรมที่สวดนั้นอย่างดีและเคยปฏิบัติธรรมมาก่อน มีใจน้อมไปทางธรรม และชอบสวดมนต์เป็นประจำ
มาสวดมนต์รักษาโรคกันเถิด
การสวดมนต์ที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันคือการทำวัตรเช้า-เย็น สวดมนต์แผ่เมตตา สวดคาถาพาหุงมหากาฯ และสวดพระปริตรธรรม มีการวิจัยในการแพทย์ปัจจุบันจำนวนมากที่แสดงว่า การสวดมนต์ช่วยให้เกิดความสุข ความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ เช่นทำให้สุขภาพ จิตดี และช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตได้ (Mc Collough Me Prayer and Health : Conceptual Issues ,’ Journal of psychology and Theology, 1995) ตัวอย่างเช่น นายแพทย์ลารี ดอสซี ได้วิเคราะห์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ประมาณ ๑๐๐ เรื่อง และพบว่าในงาน วิจัยต่างๆ เหล่านี้ การสวดมนต์มีผลต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดพืช และการที่แผลหายเร็วขึ้น นอกจากนั้น ในงานวิจัยหลายรายเราพบว่า การสวดมนต์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางจิตแห่งรัฐเทกซัสได้เจาะเลือด อาสาสมัคร 32 ราย เมื่อแยกเอาเม็ดเลือดแดงออกแล้ว ใส่สารละลายที่จะทำให้เมล็ดเลือดแดงบวมและแตกน้อยลง ผลคือ เม็ดเลือดแดงนั้นแตกช้าลง (Castleman M, Nature ‘s Cures)
จากการศึกษางานวิจัยดังกล่าว เราอาจสรุปได้ว่า การสวดมนต์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้เราผ่อนคลายทั้งทางจิตใจและทางกาย ทำให้เรารู้สึกสบายใจ สภาพจิตใจ เช่นนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพทางใจและทางกายมาก ด้วยเหตุนี้จิตแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อย จึงนำการสวดมนต์มาใช้ในการบำบัดทางจิตร่วมกับวิธีการรักษาทางการแพทย์ (King E., Bushwick B, Beliefs and Attitudes of Hospital Inpatients about Faith Healing and Prayer) การสำรวจของ นักวิจัยหลายกลุ่มพบว่า คนอเมริกันนิยมสวดมนต์กันมากกล่าวคือ 70 % สวดมนต์ทุกวัน และ 44 % สวดมนต์เพื่อการบำบัดโรค มีงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การสวดมนต์ช่วยให้ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงน้อยลง เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเครียด และโรคซึมเศร้า เป็นต้น แม้แต่ผู้ป่วย ที่เป็นโรคมะเร็ง จะมีอัตราตายต่ำกว่าประชากรทั่วไป (Michello Ja, ‘Spiritual and Emotional Determinants of Health,’ Journal of health,1988) นอกจากนั้น การสวดมนต์เมื่อปฏิบัติร่วมกับสมาธิยังสามารถลดปัญหาการฆ่าตัวตายและการใช้ยาเสพติดได้ (Ellison E.C., ‘Religious involvement and subjective well-begin,’ Journal of Health Social Behaviors,1991)
|