ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าสมมติว่าเราจะตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเองว่า ชีวิตนี้มีความต้องการอะไร? เพื่อจะได้คิดค้นในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเราเสียบ้าง คำตอบที่จะเกิดก็คงจะเป็นไปในคำตอบต่างๆกัน ตามฐานะของปัญญา ตามพื้นฐานของจิตใจที่เราจะคิดได้
บางคนก็อาจตอบแต่เพียงว่า . . .
เราเกิดมาเพื่อหาความสบายที่เกิดจากการกิน การเล่น การเที่ยว การสนุกสนานด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นในใจของคนเราทั่วๆไป เพราะว่าจิตใจของคนเราโดยปกตินั้น ก็ต้องการในสิ่งเหล่านี้ คือต้องการอาหารที่เอร็ดอร่อย ต้องการเสื้อผ้านุ่งห่มสวยงาม ต้องการที่อยู่อาศัยที่พอจะอยู่ได้อย่างสบายๆ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องการหยูกยา สำหรับรักษาเยียวยา
นี้เป็นความต้องการไม่เฉพาะแต่มนุษย์หรือคนเท่านั้น
แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็มีความต้องการ ต้นไม้ก็มีความต้องการเหมือนกัน นี้เป็นธรรมชาติไม่ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าต้นไม้ ย่อมมีสภาพเช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า . . . มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานมันต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพุทธภาษิตไว้ในธรรมบทว่า
บุคคลผู้ใดต้องการความสุขเพื่อตน
แต่ทำคนอื่นให้เดือดร้อน ผู้นั้นจะไม่ได้สุขสมใจ บุคคลใดต้องการความสุขเพื่อตน ทำผู้อื่นให้เป็นสุขด้วย ผู้นั้นจะได้ความสุขสมหมาย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา . . . คือ ถ้าเราช่วยให้คนอื่นเป็นสุข เราก็เป็นสุขด้วย ถ้าเราทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราก็เดือดร้อนเหมือนกัน การเบียดเบียนกันนั้นเป็นเรื่องไม่ดี แต่การช่วยเหลือเจือจุนกันนั้นเป็นเรื่องดีมีประโยชน์
ม นุ ษ ย์ เ ร า . . .
จึงต้องควรจะหันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอมกัน เพราะว่ามีความต้องการตรงกัน อันเรียกว่าเป็นปัจจัยสี่สำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็ล้วนแต่ต้องการด้วยกันทั้งนั้น
แต่ว่าเมื่อเรามีสิ่งสี่ประการนี้บริบูรณ์แล้ว
เราลองตั้งปัญหาถามตัวเองว่า... เพียงสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเป็นสุขหรือ?
ทำให้เรามีความสบายตลอดไปหรือ? . . . ไม่ . . .
มันยังไม่สมบูรณ์ มันยังมีอะไรๆอยู่ในใจของเรา
. . . ยังไม่เป็นความสุขแท้ทีเดียว . . . ทั้งๆที่มีอาหาร แต่บางทีเรากินอาหารไม่ลง มีที่นอนอ่อนนุ่ม มีห้องแอร์ปรับอากาศ แต่ว่านอนไม่หลับ มีเครื่องนุ่งห่มอุดมสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่สบายทางด้านจิตใจ มียาแก้ไข้แต่รักษาได้แต่เพียงเรื่องของร่างกาย ...พอเกี่ยวกับจิตใจแล้วยารักษาไม่ได้
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น . . .
สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งประเสริฐสำหรับชีวิตประจำวันหรือ?
ก็ตอบได้ว่า...มันให้เกิดความสะดวก แต่ก็ไม่สบายเสมอไป เพราะความสะดวกกับความสบายนั้นคนละเรื่องกัน ในบางทีเรามีความสะดวกแต่เราไม่มีความสบาย
ความไม่สบายนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ... แม้เราจะมีความสะดวกพร้อมทุกอย่าง แต่เราไม่สบายใจ เรามีอะไรๆ เกิดขึ้นในใจของเรา เช่น มีความทุกข์ มีปัญหาเกิดขึ้น หรือว่ามีอะไรรบกวนจิตใจ จำพวกที่เราเรียกว่า กิเลสประเภทต่างๆ
ความโลภเกิดขึ้นทำให้ร้อนใจ ความโกรธทำให้ร้อนใจ
ความหลง ความริษยา ความพยาบาท อาฆาตจองเวร . . . เป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หรือว่าบางที่เราอยู่ด้วยกันในครอบครัว อยู่กันไปทำมาหากินกันไป . . . มีความสบายดี แต่ไม่ใช่สบายเสมอไปหรอก ก็ยังมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่เรามีเราได้ไว้นั้น . . .
ยังไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเราสบายเสมอไป วัตถุเท่าที่เรามีเท่าใดๆ ไม่ช่วยให้เราสบายเสมอไป เช่นเรามีเงินมากๆ หยิบใช้ไม่ลำบาก อุ่นใจ เงินฝากไว้ในธนาคารก็มี ทุนสำรองมีเยอะแยะ แต่ว่าจิตใจของเรายังไม่มีความสุขเสมอไป ...ยังมีเรื่องปวดหัวอยู่ ยังมีเหตุที่จะทำให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือมีความวุ่นวายใจด้วยปัญหาอะไรต่างๆ
อันนี้มีหรือไม่? . . .
ญาติโยมทั้งหลายลองพิจารณาด้วยตัวเอง
ก็เรื่องทั้งหลายนั้นมันเป็นเรื่องของใครของมัน . . . อยู่ในตัวทั้งนั้นแหละ . . . ถ้าเราพิจารณาไปแล้วเราจะเห็นว่า มันเป็นอย่างนั้น บางวันเราก็นั่งกลุ้มใจ มีความทุกข์มีปัญหาร้อยแปดพันประการ แล้วสิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมดนั้นช่วยได้ไหม เงินทองที่เรามีช่วยได้ไหม มันก็พอหายกลุ้มไปได้ชั่วขณะหนึ่ง พ้นจากนั้นแล้วก็กลุ้มใจต่อไป บางทีอาจจะกลุ้มไปว่า ขโมยอาจจะมาจี้คืนนี้ก็ได้ มีปัญหาซ้อนเข้ามา ทำให้เกิดความวุ่นวายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มนุษย์เราจึงต้องแสวงหาอะไรไว้
สำหรับเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ ปลอบโยนจิตใจบ้าง
อันความทุกข์ในชีวิตของคนเรานั้น
...ไม่ใช่มีอยู่เฉพาะในสมัยนี้ มันมีมาตั้งแต่ยุคมนุษย์เกิดขึ้นในโลก พอมีมนุษย์ขึ้นในโลกนี้มันก็มีทุกข์กันแล้ว ไม่มีมนุษย์ที่จะไม่มีทุกข์นั้น...หาไม่ได้ มีชีวิตเมื่อใด . . . ก็มีความทุกข์ตามมาด้วยเมื่อนั้น
เพราะมีความทุกข์นี่แหละ . . . คนจึงได้ไปคิดค้นหาเครื่องแก้ทุกข์กันโดยลำดับตั้งแต่เริ่มต้น
ถ้าเราศึกษาเรื่องกันแล้ว
จะพบว่ามีคนประเภทหนึ่งที่ออกไปจากหมู่คณะ เพื่อไปหาสิ่งสำหรับเพื่อจะคลายจากความทุกข์ อันนี้เป็นความต้องการ เป็นความเรียกร้องทางด้านจิตใจ คือ ความเรียกร้องทางจิตใจในสิ่งที่จะช่วยให้ผ่อนคลายปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันนี้เอง คนเหล่านั้นจึงออกไปหาความรู้ความเข้าใจ . . . อย่าว่าแต่มนุษย์เลย . . . แม้สัตว์เดรัจฉานบางทีมันก็ออกเหมือนกัน
ดังที่เล่าไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาว่า
ช้างบางทีมันก็อยู่ในโขลงช้าง . . . ปะปนอยู่กับช้างพังบ้าง ลูกช้างบ้าง เวลาลงไปกินน้ำก็เบียดเสียดกันลงไปดื่มน้ำ ช้างน้อยๆมันซุกซน . . . ทำน้ำให้ขุ่น ดื่มน้ำขุ่นเข้าไปก็ไม่สบาย แล้วไปกินหญ้าก็ไม่สะดวกสบาย บางทีมันก็หนีออกไปเป็นช้างโทน ออกไปอยู่ในป่าผู้เดียว . . . ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ นั่นแสดงว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์
ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าเป็นสัตว์ทั้งนั้น
คำว่าสัตว์นี้ เขาแปลว่า ผู้ข้องผู้ติดอยู่ในอารมณ์
เราอย่าไปโกรธใครๆเขาที่ด่าเราว่าเป็นสัตว์ เพราะว่าเรามันก็เป็นอยู่อย่างนั้นจริง ๆ ยิ้มๆก็แล้วกัน พอเขาว่าชาติสัตว์แล้วก็ยิ้ม อย่างนั้นแล้วใจก็สบาย ไม่โกรธ ไม่เคืองอะไร . . . เขาพูดความจริงให้ฟัง . . .
แต่ว่าความจริงที่เขาพูดออกมานั้นพูดด้วยอารมณ์โกรธ
ไม่ใช่พูดด้วยอารมณ์ปกติ เรามันก็คนมีเชื้ออยู่บ้างเหมือนกัน ทีนี้เมื่อเขายั่วก็เลยโผล่ออกไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเอาความโกรธยั่ว . . . ฉันก็โกรธมั่ง เอาความเกลียดมายั่ว . . . ฉันก็เกลียดมั่ง เอาความรักมายั่ว . . . ฉันก็รักกับเขาบ้าง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ที่มันวุ่นกันอยู่เพราะอย่างนี้ ไม่ทนนั่นเอง แล้วก็ไม่ได้ใช้ปัญญา เมื่อถูกเขายั่ว ถ้าเราทนได้ เราใช้ปัญญา เมื่อถูกเขายั่วยุอะไร เราก็รู้เท่ารู้ทัน ก็ไม่มีอะไร เรายิ้มๆก็สบายใจ มันก็ไม่มีปัญหา มนุษย์เรามีความเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เขาเรียกว่า เป็นสัตว์อยู่ในสังคม เป็นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา
หมู่สัตว์ทั้งหลายนี้ . . .
ต้องการความสงบในบางครั้งบางคราว ทุกประเภท สังเกตดู ช้าง ม้า วัว ควาย ก็เหมือนกัน บางทีมันหลีกไปนอนซุ่มอยู่ตัวเดียว ไปนอนซุ่มอยู่ในพุ่มไม้ ไม่ออกมาคลุกคลีกับใคร ถ้าเราไม่สังเกตก็ไม่เห็น เรียกว่ามันไปหา . . . ความวิเวก . . . คล้ายๆกับคนไปรักษาศีลในวันพระ แหม มันวุ่นจริงอยู่บ้าน ไปวัดเสียหน่อย แล้วก็ไปแอบพักเสีย
สัตว์เดรัจฉานมีสัญชาติญาณอย่างนั้น
แต่ว่ามันไม่ได้ทำอย่างมีระเบียบ ทำตามแบบของสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์เรานี้มีปัญญา มีความคิดความอ่าน
จึ ง ไ ด้ ทํ า อ ะ ไ ร เ ป็ น ร ะ เ บี ย บ ถู ก ต้ อ ง
มนุษย์เราจึงต้องแสวงหาสิ่งสำหรับปลอบโยนจิตใจ
ให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน การแสวงหาสิ่งปลอบโยนจิตใจนี้
ก็แสวงหาตามฐานของจิตใจตามความรู้ที่ตัวมีพอสมควร ถ้าปัญญาน้อยก็หาที่พึ่งชั้นน้อย ๆ ปัญญาสูงขึ้นไปหน่อยก็ค่อยสูงขึ้นไปเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าศาสนาที่คนนับถืออยู่ในโลกนี้ มันจึงมีรูปต่างๆกัน มีแบบต่างๆกันไปตามชั้นของบุคคลนั่นเอง
แต่ว่าคนเรานี้มีการปรับได้ . . .
ปรับให้สูงขึ้นไปได้ ให้ต่ำอยู่อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน การปรับให้สูงขึ้นไปนั้นก็คือว่าให้การศึกษา ให้การอบรม เพื่อให้จิตใจของเขาก้าวหน้า มีการพัฒนาทางจิตใจ . . . ให้มีความรู้สูงขึ้นๆโดยลำดับ เพราะฉะนั้นการศึกษาในเรื่องธรรมะ ในเรื่องศาสนา เราก็ต้องสอนให้เกิดการพัฒนา . . . ต้องมีการพัฒนาทางจิตใจคน ให้มีความเจริญ มีความก้าวหน้า มีปัญญาขึ้นโดยลำดับ
สิ่งใดก็ตามถ้าไม่มีการพัฒนาแล้ว
สิ่งนั้นจะล้าหลัง . . . จะไม่มีความก้าวหน้าเป็นอันขาด ความจริงพูดกันโดยธรรมชาติแล้ว สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีการพัฒนาอยู่โดยลำดับ
ในเรื่องความทุกข์ ความเดือดร้อนของมนุษย์นี้ก็เหมือนกัน
มีการพัฒนาวิธีการให้ก้าวหน้า ถ้าเราลองคิดไปถึงสมัยก่อนๆ . . . คนมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ก็เข้าไปกราบไหว้อะไรบ้าง สิ่งใดที่เขาเห็นว่ามันใหญ่โตประหลาดน่าหวาดกลัว . . . คนก็เข้าไปกราบไหว้สิ่งนั้นเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เวลาใดเกิดทุกข์ร้อนก็ไปนั่งไหว้เรื่อยไป ไหว้ต้นไม้บ้าง ภูเขาบ้าง แม่น้ำบ้าง ไหว้ป่าไม้บ้าง กราบไหว้กันมาจนถึงทุกวันนี้ . . . แล้วก็มาไหว้สิ่งที่เป็นตัวตน เช่น เทวดา พระผู้เป็นเจ้า ก็กราบไหว้ไปตามเรื่อง มีความทุกข์ก็ไปทำอย่างนั้น นั่นก็คือต้องการความหลุดพ้นจากความทุกข์นั่นเอง จึ ง ไ ด้ ก ร า บ ไ ห ว้ สิ่ ง นั้ น สิ่ ง นี้ . . .
มนุษย์เราเวลาทุกข์แล้วไปทำอะไรต่างๆนานาตามที่เคยกระทำ
อันนี้เขาเรียกว่า ทำตามแบบโบราณเก่าแก่ ไม่มีการพัฒนา ครั้นต่อมาก็คนที่มีความคิดความอ่าน เห็นว่าการกระทำในรูปอย่างนั้นไม่ถูกต้อง ก็มีการปรับปรุงหลักคำสอน ปรับปรุงข้อปฎิบัติ ถ้าเราศึกษาให้ละเอียดก็จะเห็นว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ว่าคนบางคนก็ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมอยู่ตลอดเวลา . . . จึ ง อ ยู่ ใ น ส ภ า พ อ ย่ า ง นั้ น . . .
ที่ถูกนั้นควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย
สิ่งใดที่มันดีขึ้น . . . เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องทางร่างกายของคนนี้เปลี่ยนแปลงไปไว เรื่องวัตถุแล้วมันก็เปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนไปทันเหตุทันการณ์ทั้งนั้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงในด้านนั้น แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงในสิ่งปลอบโยนทางจิตใจ อันให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนนั้น . . . ยังไม่เปลี่ยน ยังยึดถืออยู่ในเรื่องเก่าๆ อย่างเดิมตลอดเวลา มีเป็นส่วนน้อยที่เปลี่ยนไป . . . เพราะได้รับการเตือนการแนะนำพร่ำสอน ความคิดความอ่านก็เปลี่ยนไป ปล่อยวางอะไรได้พอสมควร เข้าหาหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ซึ่งความจริงแล้วเราควรจะได้เปลี่ยนไปให้ทันกับเหตุการณ์
พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น
มองดูเห็นแล้วว่าคงจะไม่เกิดประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหาชีวิต มีความสนพระทัยในเรื่องที่จะช่วยให้เกิดความพ้นทุกข์ จนกระทั่งได้พบแนวทางใหม่ . . . ได้ตรัสรู้ความจริง เมื่อก่อนนั้นมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แต่ว่าเมื่อได้รู้สิ่งนั้นได้เข้าใจสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว . . . สิ่งที่เคยมีเคยเป็นนั้นหายไปหมด และนำวิชานี้มาสอนให้แก่ชาวโลกต่อไป เพื่อให้ชาวโลกได้เอาไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
คนเราโดยปกตินั้นยังอ่อนอยู่ที่ว่า . . .
ไม่พยายามที่จะช่วยตนเอง ไม่พยายามที่จะพึ่งตัวเอง หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น สอนให้เราพึ่งตัวเอง ให้เราช่วยตัวเอง...อันนี้สำคัญมาก ขอให้ญาติโยมได้ใส่ใจในเรื่องนี้ไว้สักหน่อย คือพระพุทธเจ้าสอนให้เราช่วยตัวเอง ให้เราพึ่งตัวเอง ทุกแง่ทุกมุม . . . ให้เราช่วยตัวเอง ให้เราพึ่งตัวเองทั้งนั้น ถ้าเราได้เอาหลักธรรมนี้เป็นพื้นฐานทางจิตใจไว้ เราจะช่วยตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ ในหลายแง่หลายมุม
ในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ความเดือดร้อนนี้ก็เหมือนกัน
เราจะต้องคิดว่า . . . เราจะต้องช่วยตัวเอง “ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทาง การเดินทางเป็นหน้าที่ของเรา” เมื่อเรารู้จักทางแล้วต้องลงมือเดิน...เดินทันที
...เดินรุดหน้าไปตามเส้นทางนั้นด้วยความเพียรมั่น ด้วยความมีสติ ด้วยความมีปัญญา ก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้
การที่เราจะทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน
ก็ต้องพยายามคิดพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเอง แต่ว่าการช่วยตัวเองนั้น มีหลักแถมท้ายอยู่ว่า . . . ต้องพึ่งธรรมะ ต้องศึกษาธรรมะ แล้วนำธรรมะมาปฏิบัติ
พึ่งตนก็คือพึ่งธรรมะนั่นเอง
หมายความว่า . . . เราจะต้องปฏิบัติธรรม
สิ่งที่เราควรจะต้องทำเริ่มต้น ก็คือศึกษาทางให้เข้าใจ
เมื่อรู้ทางแล้วลงมือเดินตามทางนั้น...เดินไปข้างหน้า อย่าหยุดยั้ง . . . แม้จะมีใครมาตะโกนมาเรียกร้องเรา ให้เราแวะข้างทางให้เราหยุด . . . เราไม่เอา . . . เราจะเดินไปตามเส้นทางที่เราได้รู้แล้ว ได้เข้าใจแล้ว สักวันหนึ่ง...เราก็จะถึงจุดหมายปลายทางด้วยตัวของเราเอง คือเราพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
ชีวิตเรานี้ต้องการอะไร . . .
ชีวิตนี้ไม่ต้องการแต่เพียงปัจจัยสี่ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย คนเราไม่ได้มีแต่เพียงร่างกายเท่านั้น เรามีใจซึ่งจะต้องมีสิ่งที่หล่อเลี้ยงด้วยสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าปัจจัยสี่ เราต้องการหลักธรรมะที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ พูดภาษาง่ายๆว่า ต้องการศีลธรรม...นี้เป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้น
เพื่อให้เราอยู่ได้เป็นปกติ สิ่งสร้างเสริมความเป็นปกติให้คงทน และก็ช่วยให้ความเป็นปกตินั้นพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ชอบด้วย มันจะอำนวยให้จิตใจเราสว่างไสวไปด้วยสติด้วยปัญญา มีความคิดถูกทาง มีการกระทำถูกทาง มีการพูดถูกทาง มีการอยู่ด้วยการถูกต้องตามกันในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ไว้ ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต แล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ ถ้าเราไม่ใช้...เราก็จะมีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ
อารมณ์ง่ายๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในคนเราทั่วๆไป
แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังเป็นอะไร เรากำลังเดินไปในทางไหน . . . ก็สร้างปัญหาขึ้น อารมณ์ ความโกรธ ความเกลียด ความริษยา ความพยาบาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจเรานั้น เราจะต้องเพ่งมัน
คนที่มีอารมณ์อย่างนี้ ต้องรู้สึกตัวว่าไม่ถูก จิตใจไม่ดี
ควรจะอ่านหนังสือธรรมะเสียบ้าง หัดปล่อยวางเสียบ้าง นึกง่ายๆว่า มันเรื่องอะไรที่เรามาหาเรื่องให้กลุ้มใจแก่ตัวเอง คนอื่นเขาสบายกันทั้งนั้น เรามานั่งกลุ้มอยู่คนเดียวมันเรื่องอะไร ให้เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของเดิม..ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเกิดแล้วมันก็ไม่ได้อยู่ถาวรตลอดไป
ทีนี้เราต้องคอยพิจารณาว่าอันนี้มันเกิดอย่างไร
มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยของอะไร ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา คอยนึกคิดพิจารณาไตร่ตรองอยู่เสมอๆ ให้มีสติปัญญาไว้
การปฏิบัติธรรมะที่ย่อที่สุด ที่สั้นที่สุด
. . . ก็คือ . . . การควบคุมตัวเอง ด้วยสติ ด้วยปัญญาเท่านั้นแหละ ถ้าเรามีสติควบคุมตัวเอง . . . มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองในเรื่องต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้ว เราจะหนีพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน สิ่งใดที่เป็นอกุศล เป็นไปเพื่อสร้างกิเลส
เป็นไปเพื่อสะสมความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เราก็ต้องเอาออกไปเสีย อย่าให้มันเกิดขึ้นในใจของเรา
เพราะมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
. . . อารมณ์ก็ไม่ยุ่งยากลำบากใจ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคิดตามหลักธรรมะไว้ เราเรียนธรรมะต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเวลามีความทุกข์ . . . ต้องใช้ทันที ต้องรีบถามว่า อะไรทำไมจึงกลุ้มใจ กลุ้มใจเรื่องอะไร เรื่องนั้นมันทำให้เรากลุ้มใจเพราะอะไร คิดไปค้นไปเราก็จะพบความจริง แล้วเราก็จะแก้ได้ด้วยปัญญาของเราเอง
นี่แหละคือสิ่งที่ควรจะคิดนึกในชีวิตประจำวันของเรา
. . . ว่า . . . ชีวิตนั้นสำคัญอยู่ที่ความสุขสงบใจ
ความสุขสงบใจ . . . ก็เกิดจากการประพฤติชอบตามหลักธรรมะ เราจึงควรจะอยู่ด้วยสติอยู่ด้วยปัญญาตลอดไป
ข อ ยุ ติ ไ ว้ เ พี ย ง เ ท่ า นี้ . . .
ท่านที่สนใจ สั่งซื้อหนังสือ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติอได้ที่
ไตรลักษณ์ ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา ริมกำแพงวัดญาณเวศกวัน
E-mail : trilak_books@yahoo.com
โทร. 086-461-8505,02-482-7358