ในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา ไตรลักษณ์ ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา ก็จะขอหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังสือพระไตรปิฎกมาให้ท่านผู้อ่าน ได้อ่านกันครับ
พระไตรปิฎกนั้นคืออะไร
ในศาสนาทุกศาสนาก็จะมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน ซึ่งแม้เดิมนั้นจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การบันทึกหรือการจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ เมื่อโลกเจริญขึ้นถึงกับมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ คัมภีร์ศาสนาเหล่านั้นก็มีผู้พิมพ์เป็นเล่มขึ้นโดยลำดับ
คำว่า "พระไตรปิฎก" หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ใบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัล กุรอานของศาสนาอิสลาม นั่นเองครับ
ซึ่งจะกล่าวโดยรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำ ๆ ว่า พระ+ไตร+ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า ไตร แปลว่า ๓ คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ อย่าง คือแปลว่า คัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่า กระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่า เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น
พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นกี่หมวด และมีอะไรบ้าง?
เมื่อทราบแล้วว่า คำว่า พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎก นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละปิฎกนั้น มีความหมายหรือใจความอย่างไร ปิฎก ๓ นั้นแบ่งออกดังนี้
๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
๓. อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ โดยไม่เน้นอภินิหารหรือเรื่องราวใดๆทั้งสิ้น คือเน้นเฉพาะธรรมะ หรือแก่นอย่างเดียวเท่านั้น