มรณานุสติ
แสดงพระธรรมเทศนาโดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ก่อนที่เราจะได้กระทำพิธีฌาปนกิจตามธรรมเนียม
เราควรจะได้ฟังอะไรๆ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจก่อนสักเล็กน้อย
เพราะว่าการมาในงานฌาปนกิจ ครั้งหนึ่งคราวหนึ่งนั้น ก็ควรจะได้กำไร
ในทางจิตใจกลับไปบ้านบ้างตามฐานะ
กำไรที่จะได้ทางจิต ก็คือความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรานั่นแหละ
เป็นเรื่องสำคัญ
การแสดงธรรมในงานศพ
ตามปกติทั่วๆไปนั้นเมื่อมีงานศพ เจ้าภาพก็มักจะนิมนต์พระมาแสดงธรรม
แต่ว่าแสดงธรรมตอนบ่าย อาตมาก็เคยได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมหลายครั้ง
หลายหน ทุกครั้งที่ไปแสดงก็นึกอยู่ในใจว่า ได้ประโยชน์น้อย...คนฟังน้อยเหลือเกิน
แม้เจ้าภาพเองก็มากันไม่ครบ จึงได้คิดในใจว่าควรจะได้เปลี่ยนเวลาเทศน์เสียบ้าง
อาตมาได้ชี้แจงเจ้าภาพให้เลือกเอา ๒ เวลา อย่างเวลากลางคืน การสวด
อภิธรรมนี้เราก็สวดเหมือนกัน แต่ว่าแทนที่สวดหลายซ้ำ สวดสักจบหนึ่งก็พอแล้ว
แล้วก็ควรจะนิมนต์พระมาแสดงธรรม พูดภาษาไทยง่ายๆให้คนที่มาประชุมกัน
เกิดความรู้ความเข้าใจดีกว่า จึงได้เสนอว่าควรจะเทศน์ตอนกลางคืน เจ้าภาพ
บางคนก็เอาเหมือนกัน เลยนิมนต์ไปเทศน์ในตอนกลางคืน
ทีนี้ถ้าไม่เทศน์ตอนกลางคืน อาตมาบอกว่าอีกเวลาหนึ่งมันเหมาะที่สุด
เวลาที่ญาติโยมมานั่งรอจะเผาศพนั่นแหละ นั่งกันอยู่เฉยๆ เมื่อนั่งกันอยู่เฉยๆ
ก็ ควรจะนิมนต์พระมาเทศน์แถมพกกันตอนนั้นแหละ ไม่ต้องมีพิธีรีตองให้วุ่นวาย
ข้อสำคัญนั้นจะต้องมีคนพูดแล้วก็มีคนฟัง ฟังแล้วให้ได้ความรู้ความเข้าใจ
จะยืน พูดก็ได้ นั่งพูดก็ได้ ให้เสียงมันดังๆไปก็แล้วกัน แล้วก็จะได้ฟังกัน
งานนี้เจ้าภาพ ก็พอใจในวิธีการของอาตมา ได้นิมนต์ให้มาพูดกันตอนนี้ เพื่อให้ญาติโยมได้ฟัง
ข้อควรปฏิบัติและสิ่งที่ได้รับเมื่อมางานศพ
เราทุกคนที่มานั่งอยู่ในที่นี้ มีความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อาตมานั่งดูแล้วก็ คิดเหมือนกัน แล้วก็คิดว่าควรจะปรับปรุงหลายเรื่องหลายประการ
เมื่อตะกี้นี้ขณะที่นำศพเดินเวียนเมรุ ๓ รอบ เรียกว่า
เวียนซ้าย...อุตตราวัฏ ในขณะที่เรานำศพเวียนไปนั้น
คนที่เดินตามศพควรจะเดินอย่างไร? เท้าขวา เท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า
เดินอย่างนั้นมันเดินธรรมดา เราอย่าเดินแบบธรรมดา ต้อง สำรวมหน่อย
เดินด้วยความสำรวมกิริยาอาการ ให้เห็นว่ามีความเศร้าโศกเสียใจ
ในเรื่องอย่างนี้ การเดินสงบเงียบนั้นทำให้เกิดธรรมสังเวช ให้คนดูแล้วเกิดความ
รู้สึกสะเทือนใจ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า สังเวช หมายความว่า สลดใจในสิ่งนั้น
จะได้ความรู้เกิดขึ้นในใจเพราะสิ่งนั้นบ้าง ขอฝากไว้เสียด้วยว่า เวลาเราเดิน
หลังศพ ให้เดินก้มหน้านิดหน่อย...สำรวมจิตใจ เมื่อสำรวมใจแล้วเราก็ควรใช้
ใจคิดในเรื่องนี้ด้วย คิดว่าเราเดินไปกับใคร? เราเดินไปกับศพ ศพนั้นคืออะไร?
คือส่วนของกายที่เหลืออยู่ของคนที่ตายไปแล้ว ร่างกายเหลืออยู่ ลมหายใจไม่มี
ไออุ่นในร่างกายไม่มี หมดเรื่องกันไปตอนหนึ่ง แล้วก็ปิดฉาก
เวลาเดินตามศพ เราก็ควรจะคิดว่า วันหนึ่งเราจะต้องเป็นอย่างนี้ เราหนี
จากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องถึงวาระของเราบ้าง
เวลานี้เรามาเผา คนอื่น แต่วันอื่นคนอื่นเขาจะมาเผาเราบ้าง ขอให้คิดถึงความตายไว้บ้าง
พระพุทธเจ้าสอนให้เรานึกถึงความตาย เพื่อจะได้ทำตนให้ดีก่อนตาย
ให้รู้จักหน้าที่ก่อนตาย แล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อย
อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่มีอะไรบกพร่องเสียหาย
คนเราถ้าไม่นึกถึงความตายก็ปล่อยตัวปล่อยใจไป ตามเรื่อง...
ถ้าหากว่าได้คิดในเรื่องอย่างนี้เสียบ้าง ชีวิตจะมีค่ามีราคา
ท่านจึงสอนให้พิจารณาว่า วันหนึ่งเราจะต้องตาย
ความตายเป็นของเที่ยง แต่ชีวิตความเป็นอยู่เป็นของไม่เที่ยง
ชีวิตมันไม่แน่อย่างนี้ ฉะนั้นเราจะต้องนึกว่า เวลานี้
เราควรจะอยู่อย่างไร ควรจะทำอะไรเสียก่อนที่จะถึงเวลาตาย
เพราะเวลา ตายแล้วทำอะไรก็ไม่ได้
ปริศนาธรรมที่ได้รับจากการมางานศพ
ญาติโยมคงจะเคยเห็นเขาทำอะไรๆเป็นปริศนา
เป็นข้อเตือนใจ แก่คน ที่ยังเป็นๆอยู่ เช่น ว่าเราไปอาบน้ำศพ
เขาเอาศพวางบนเตียง เอาผ้าแพรคลุม เปิดหน้าให้เห็นว่าหน้าใคร
มีเหรียญมีตราก็เอาไปวางไว้ด้วย เสร็จแล้วก็ดึงมือ ศพมาให้หงายมือขึ้น
แล้วเราก็ไปรดน้ำลงบนมือนั้น เมื่อเราไปเห็นศพหงายมือ ให้รดอย่างนั้นเรานึกถึงอะไรบ้าง
ถ้าไม่นึกอะไรก็จะไม่ได้ปัญญา แต่ถ้านึก สักหน่อยว่า
อ้อ!เขานอนหงายมือเท่ากับบอกเราให้รู้ว่า เขาไปมือเปล่า ไม่ได้เอา อะไรไปเลยสักชิ้นเดียว
แล้วเราก็รดน้ำลงไปในมือผู้ตาย รดน้ำลงไป
น้ำมันยังอยู่ในมือบ้างไหม? ไม่มีเหมือนกัน...
น้ำไหลลงไปในพานในขันที่เขาจัดรองไว้ แล้วเอาไปไหน
เอาไป คืนให้แผ่นดินตามเดิม ตัวเราเองเอาอะไรไปไม่ได้
นี่ก็เป็นธรรมะเตือนใจอยู่แล้ว
ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็ควรจะนึกบ้างว่า เออ!
อ้ายคนที่โลภนักหนานั้น เขา เอาอะไรไปได้หรือเปล่า
ถ้าเรานึกถึงความตายเสียบ้าง ก็พอจะเป็นเครื่องห้าม
ล้อจิตใจ ไม่ให้โลภมากอยากได้เกินไป เพราะนึกได้ว่า
จะเอาไปทำอะไรนักหนา กินนี่จะกินเท่าไหร่ คนเรามันกิน
ได้แต่เพียงอิ่มท้องเท่านั้นแหละ...เกินกว่านั้นไม่ได้
ถ้าหากเราพิจารณาก็จะเห็นว่า อะไรๆมันก็อยู่ที่ความพอดี
เกินพอดีไป ก็ไม่ได้ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เป็นของสำหรับใช้ชั่วคราว
ถ้าจะพูดกันไปแล้วก็ เท่ากับเป็นของยืมทั้งนั้น...ยืมมาใช้ เรายืมมาจากธรรมชาติ
แต่ทว่าการยืมนั้น เราต้องลงทุนทำงาน แล้วก็ได้ผลตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ
เราเอาสิ่งนั้นไป ไม่ได้...ตายแล้วก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งนั้น
เราคงเห็นกันบ่อยๆว่าเป็นอย่างนั้น ครั้นเมื่อเราเอาไปไม่ได้
เราก็ควรจะใช้ให้มันเป็นประโยชน์
ชีวิตมนุษย์อยู่ผู้เดียวไม่ได้ เรามีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคม
เป็นหนี้ สังคมอยู่ตลอดเวลา ก็ควรจะหาโอกาสเปลื้องหนี้เสียบ้าง
ด้วยการใช้เงินใช้ทอง ใช้สติปัญญา ใช้เรี่ยวแรงบำเพ็ญสิ่งที่เป็น
ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย...ร่วมกัน...
ร่วมกันทุกอย่างแหละ อย่าไปถือเขาถือเรา มันเป็นเรื่องยุ่งด้วยกัน
ทั้งนั้นถ้าถือในรูปอย่างนั้น ทุกศาสนาศาสดาผู้สอนท่านต้องการให้สัตว์โลกหัน
หน้าเข้าหากัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ อยู่กันได้อย่างพี่อย่างน้อง สันติสุขมันจึง
จะเกิดขึ้นในโลก ถ้าเราได้นึกถึงความตายกันเสียบ้าง เราก็จะได้คิดนึกไปในแง่
อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเวลามาในงานศพ เราก็ต้องบอกตัวเองว่า วันหนึ่ง... เราจะเป็นอย่างนี้
ความตาย : สิ่งที่ไม่ควรประมาท
เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเป็นและไม่รู้เวลาอย่างนี้...
เราก็ต้องไม่ประมาท ต้องรีบเร่ง ปฏิบัติงานในหน้าที่
ใครมีหน้าที่อันใดก็ต้องรีบจัดรีบทำ คิดอย่างนี้เท่านั้นแหละ
ช่วยชาติช่วยบ้านเมืองได้ ทำให้งานคล่องตัว ทำให้งานก้าวหน้า
เพราะว่าผู้ที่ ทำงานกลัวว่า ตัวจะตายเสียก่อนจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น
แล้วก็จะรีบเร่งกระทำสิ่งนั้น แต่ถ้าเรานึกว่าช่างมันเถอะ เวลายังมี
ทำพรุ่งนี้ก็ยังได้ เลยเป็นคนมีนิสัยผลัดวัน ประกันพรุ่ง งานมันก็ชักช้า
ทำให้เสียเวลาไม่ก้าวหน้า ไม่ถูกจุดประสงค์ของผู้สอน ศาสนา
ที่สอนให้เราตื่นตัว ก้าวหน้า
เด็กๆลูกๆหลานๆ เรานี่เราต้องเตือนเขาบ่อยๆ
เรียกมาบอกว่า ลูกเอ๋ย! เจ้าต้องรีบเรียนนะ
เวลานี้คุณพ่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ การอุปถัมภ์ค้ำชูในเรื่อง
การเป็นการอยู่การศึกษาน่ะ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่จะจัดให้
แต่ว่าพ่อแม่นี่ไม่แน่ นา...อาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ได้
บางคนไม่กล้าพูดอย่างนี้ เขาหาว่าแช่งตัวเอง แช่งไม่แช่งมันก็ตายทั้งนั้นแหละ!
อย่าไปกลัวเลย มันต้องตายกันทุกคนแหละ
พ่อแม่ยังอยู่นี่ต้องรีบเรียน รีบให้มันสอบผ่านไปไวๆ
อย่าให้สอบตกซ้ำชั้น อย่าให้ เสียเวลาในการเล่าเรียน
จะได้มีวิชาความรู้ เติบโตขึ้นก็จะได้ช่วยตัวได้
เวลามาในป่าช้าอย่างนี้ เราควรจะบอกเด็กให้รู้ว่า
คนที่นอนอยู่ในนี้เป็นใคร มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างไร
เราเกี่ยวข้องกับท่านอย่างไร เขาจะมีความรักบรรพบุรุษ
เคารพบรรพบุรุษขึ้นมา เราต้องพูดให้เด็กเข้าใจในเรื่องอย่างนี้
เพื่อให้เด็กเกิด ปัญญา แต่ว่าในการที่จะช่วยให้ผู้อื่นมีปัญญา
ผู้ช่วยต้องมีปัญญาเสียก่อน
การที่ จะมีปัญญาขึ้นก็ต้องอาศัยการคิดนึกตรึกตรองในเรื่องอย่างนี้
การมาเผาศพ คนโบราณเขาว่าได้อานิสงส์มาก
อานิสงส์มันอยู่ที่ตรงไหน? ก็อยู่ตรงที่เราได้ปัญญา
ได้ความรู้ความคิดเกี่ยวกับศพ เอามาเป็นเครื่องเตือนใจ
แล้วเรานำไปประพฤติปฏิบัติ นั่นแหละคืออานิสงส์ คือสิ่งที่เราได้...
ได้ปัญญาด้วย การมองสิ่งที่วางอยู่เฉพาะหน้า เช่น ศพ
เครื่องประดับศพ ล้วนแต่เป็นธรรมะ เป็น เครื่องเตือนใจทั้งนั้น
จึงขอเตือนญาติโยมว่า ทุกครั้งที่เรามาป่าช้า...มางานศพนี่
ขอให้คิดเอาศพเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดปัญญาความคิด
ความอ่าน แล้วมีความไม่ประมาทในความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
พระกับผี ความดีกับความชั่ว
ถ้าสมมติว่า เราเป็นคนมีอะไรบกพร่องอยู่ในตัวบ้าง
ประพฤติไม่ค่อยดี ไม่ค่อยงาม
ทำตนให้เสียหาย ทำชื่อเสียงให้เสียหาย
เมื่อเรามาในงานศพ เราก็ มองให้เห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดีเอาไปเผาเสียด้วย
ญาติโยมเอาไม้จันทน์ไปสักการะศพ เราก็ควรจะมาเผาอะไรๆเสียด้วย
อะไรๆที่เราควรเผาน่ะมันคืออะไร? คือสิ่งชั่วสิ่งร้ายที่มีอยู่ในใจเรานั่นแหละ
ที่เขาพูดกันง่ายๆว่าไปเผา “ผี” นั่นแหละ แต่ผีนั้นคือความชั่วที่อยู่ในตัวเรา
ผีเหล้า ผีการพนัน ผีขี้เกียจ ผีเที่ยวกลางคืน ผีใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่าย
ผีไม่เอางานเอาการ เราก็เอามาพิจารณา ขณะที่นั่งอยู่เฉยๆนั้น นั่งคิดว่า
เออ! ในตัวกูนี่มันมีผีอะไร อยู่บ้าง ครั้นรู้ว่ามีผีอะไรแล้วก็ให้รู้สึกว่า
เออ!เรามาเผาผีนี่ควรจะเอาผีพวกนี้เผา เสียด้วย
เวลาที่ขึ้นไปเผาศพนั้นก็นึกในใจว่า ข้าพเจ้าขอเผาผีที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้า
ด้วย อะไรที่ไม่ดีมีอยู่ในตัวเราตามที่พระท่านว่าให้ถือว่ามันเป็นผี
ความชั่วน่ะคือผี ความดีน่ะคือพระ อย่างนี้แหละเรียกว่ามาเผาผี
ได้กำไร ได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์ บางคนเผามาไม่รู้กี่สิบศพแล้ว
ก็ยังเหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ...ไม่เปลี่ยนแปลง
ธรรมะเท่านั้นย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
สิ่งใดเป็นพระเราหล่อเลี้ยงไว้ในใจเรา ถ้าเราประพฤติธรรมอย่างนี้แล้ว
ก็ เรียกว่าเรามีพระ พระอยู่กับเราแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ถ้าเราไม่ประพฤติธรรม...ธรรมะก็ไม่รักษาเรา
เพราะฉะนั้น จึงขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ที่ได้มาชุมนุมกันเผาศพในวันนี้
จงเชิญธรรมะเข้ามาไว้ในใจ รักษาธรรมะไว้เพื่อให้ธรรมะรักษาเรา
การอ่านหนังสือธรรมะ ก็เรียกว่า...เราเข้าใกล้พระ เราฟังธรรมะ
ก็เรียก ว่า...เราเข้าใกล้พระ ถ้าเราประพฤติธรรมะ ก็เรียกว่า
...พระอยู่กับเราแล้ว เราก็จะ มีความสุขความเจริญได้ด้วยอาการอย่างนี้
ได้พูดมาก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลายเล็กๆ
น้อยๆ ก่อนที่จะได้ทำพิธีตามที่เคยกระทำมา
ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติการแสดงปาฐกถาไว้แต่เพียงเท่านี้
ท่านที่สนใจจัดทำหนังสือธรรมะเป็นธรรมทาน ในโอกาสงานพิเศษต่างๆ โปรดติดต่อที่
ไตรลักษณ์ ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา ริมกำแพงวัดญาณเวศกวัน
โทร.086-461-8505,02-482-7358,081-424-0781
www.trilakbooks.com
ไตรลักษณ์ ... มุ่งหวังให้ทุกคนทำแต่ความดี ปรารถนาให้โลกพบแต่ความสงบสุข